posttoday

เงินเฟ้อพลิกติดลบในรอบ 5 เดือน ชี้มาตรการลดค่าน้ำค่าไฟเป็นเหตุ

06 กันยายน 2564

‘พาณิชย์’จับตารัฐต่อมาตรการลดค่าน้ำค่าไฟ ก่อนปรับเป้าเงินเฟ้อใหม่ คาดปีนี้โตไม่ถึง1% มองภาพรวมเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจยังมีสัญญาณดี ทั้งส่งออก-ยอดภาษีมูลค่าเพิ่มโต

นายวิชานัน  นิวาตจินดา   รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาตร์การค้า  (สนค.)  เปิดเผยว่า  ดัชนีราคาผู้บริโภค หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนส.ค.  ลดลง 0.02% เทียบกับปีก่อน  และหากเทียบกับเดือนก่อนหน้าขยายตัว 0.45% เป็นผลจากมาตรการลดภาระค่าครองชีพของรัฐ โดยเฉพาะการลดค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่ากระแสไฟฟ้า และค่าน้ำประปา

ขณะที่ราคาสินค้ากลุ่มอาหารสดบางชนิดมีราคาลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะข้าว เนื้อสัตว์ ผักสด และผลไม้สด

นอกจากนั้น ราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานแม้จะยังขยายตัวต่อเนื่อง แต่เป็นอัตราที่ชะลอลงจากเดือนที่ผ่านมา ส่วนสินค้าอื่น ๆ บางชนิดมีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะไข่ไก่และเครื่องประกอบอาหาร และบางชนิดราคาทรงตัว ซึ่งเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสถานการณ์ ส่งผลให้เงินเฟ้อในเดือนนี้ปรับลดลง

สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน (เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว) ขยายตัว 0.07% เทียบกับปีก่อนและ ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าลดลง 0.18 % โดยเฉลี่ย 8 เดือน (ม.ค.- ส.ค.) ปี 2564 สูงขึ้น 0.73 %

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเงินเฟ้อในเดือนนี้จะปรับตัวลดลง แต่เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจสำคัญที่เกี่ยวข้องหลายตัวยังมีสัญญาณที่ดี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการใช้จ่ายภายในประเทศและจากการนำเข้า ยังคงขยายตัว ภาคการส่งออกยังได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญที่ฟื้นตัว ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยยังคงขยายตัวได้ดี ซึ่งส่งผลดีต่อกำลังซื้อและอุปสงค์ในประเทศ

นอกจากนี้ ดัชนีราคาผู้ผลิต ขยายตัว 4.9 % และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ขยายตัว 8.8%  สอดคล้องกับการปรับตัวสูงขึ้นของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจของไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 แต่เชื่อมั่นว่ามาตรการเพิ่มกำลังซื้อ และการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของภาครัฐ รวมถึงอุปสงค์จากต่างประเทศที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว จะส่งผลให้เงินเฟ้อของประเทศปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในเดือนก.ย. จะกลับขยายตัวในระดับที่ไม่สูงมากนัก โดยมีปัจจัยสำคัญจากการสิ้นสุดมาตรการลดค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ซึ่งสิ้นสุดในเดือนสิงหาคมนี้ อีกทั้งราคาพลังงานมีแนวโน้มทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อยจากการเพิ่มกำลังการผลิตของผู้ผลิตโลก ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่มีแนวโน้มเริ่มคลี่คลาย   โดยราคาอาหารสดและการต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐเป็นปัจจัยผันแปรสำคัญที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อในเดือนก.ย.ได้

นายวิชานัน  กล่าวว่า  กระทรวงพาณิชย์จะทบทวนเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ ในเดือนหน้า  จากตัวเลขคาดการณ์เดิมเฉลี่ยเงินเฟ้อปี 2564 จะอยู่ระหว่าง 0.7 – 1.7 % (ค่ากลางอยู่ที่ 1.2% )   โดยจะนำปัจจัย ทั้งเรื่องราคาน้ำมัน  อัตราแลกเปลี่ยน   และมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ จะมีการขยายระยะเวลาออกไปอีกหรือไม่ มาพิจารณาประกอบ

“หากรัฐไม่มีมาตรการอะไรเพิ่มเติม เงินเฟ้อจะทยอยเป็นบวกจนถึงสิ้นปี  แต่หากขยายระยะเวลามาตรการออกไปจนถึงสิ้นปีเงินเฟ้อมีโอกาสติดลบ ซึ่งจะส่งผลให้ภาพรวมเงินเฟ้อทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่0.7-0.8% ส่วนมาตรการคลายล็อกดาวน์มีผลเงินเฟ้อแต่คนละรูปแบบ โดยทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคลดการใช้เดลิเวอร์รี่ลง มีข้อดีทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการเคลื่อนไหว นอกจากนี้ในการคำนวณเงินเฟ้อจะนำชุดตรวจโควิดมาใช้ในตะกร้าเงินเฟ้อด้วย เพื่อใช้ในการคำนวนเพื่อให้สะท้อนสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน"