posttoday

กฟผ. เร่งขับเคลื่อนพลังงานสะอาด ใช้พลังงานทดแทนสัดส่วน 30% ใน 15ปี   

28 สิงหาคม 2564

กฟผ. มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ เดินหน้าพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ โซลาร์เซลล์ลอยน้ำ ชีวมวล ชีวภาพ ลม ขยะ ฯลฯ วางเป้าสัดส่วน 30% ในปี 2580 

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวในงาน “Future Energy Asia 2021” (FEA2021) นิทรรศการและการประชุมด้านพลังงาน พร้อมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Thai Power Address: Accelerating the Integration of Renewables into the Energy Mix” ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการผลิตไฟฟ้าที่ต่างไปจากรูปแบบเดิมกำลังเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมพลังงาน โดยพลังงานหมุนเวียนมีบทบาทเพิ่มขึ้น 

โดยเห็นได้จากแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2561-2580 (AEDP2018) เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้สูงขึ้น เป้าหมายอยู่ที่ 18,696 เมกะวัตต์ ภายในปี 2580 คิดเป็นร้อยละ 30 ของการใช้พลังงานทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วย พลังงานแสงอาทิตย์ โซลาร์เซลล์ลอยน้ำ ชีวมวล ชีวภาพ ลม และอื่น ๆ เช่น ขยะ พลังน้ำขนาดเล็ก

ทั้งนี้ กฟผ. ตระหนักถึงความสำคัญและพร้อมที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานให้เป็นไปอย่างราบรื่น มุ่งหวังสร้างสังคมสีเขียวให้กับอนาคต โดยได้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าไฮบริดซึ่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับพลังน้ำที่เขื่อนสิรินธร ขนาด 45 เมกะวัตต์ ถือเป็นโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลก 

โดยนำระบบ Energy Management System มาใช้ควบคุมและบริหารจัดการ ช่วยเพิ่มเสถียรภาพให้แก่พลังงานหมุนเวียน ซึ่ง กฟผ. ยังมแผนพัฒนาโครงการเช่นนี้ในอีก 9 เขื่อนทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมาย 2,725 เมกะวัตต์ ภายในปี 2580 รวมถึงโครงการ Wind Hydrogen Hybrid ที่ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชียที่นำระบบการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากกังหันลม มาใช้ในการผลิตไฟฟ้าร่วมกับเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell)  ซึ่งเก็บพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบก๊าซไฮโดรเจน  โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโครงการนำร่องถูกนำไปใช้ที่ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง จ.นครราชสีมา

อีกทั้ง กฟผ. ได้ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายระบบส่ง (Grid Harmonization Framework) ซึ่งครอบคลุมการพัฒนา 3 ด้าน ได้แก่ ปรับปรุงระบบส่งและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ (Grid Modernization) เช่น ศูนย์พยากรณ์พลังงานหมุนเวียน (RE Forecast Center) ปรับปรุงโรงไฟฟ้าเพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และส่งเสริมการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าในภูมิภาค เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างประเทศ กฟผ. พัฒนาเทคโนโลยีและมุ่งหวังที่จะสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าแห่งอนาคตเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย ดังแนวคิด “EGAT for ALL” กฟผ. เป็นของทุกคน เพื่อทุกคน

นอกจากนี้ ภายในงานฯ กฟผ. ได้ร่วมจัดแสดงนิทรรศการออนไลน์ (Virtual Exhibition) ภายใต้แนวคิด “EGAT SMART ENERGY SOLUTIONS FOR ALL” เช่น โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการพลังงาน (ERC Sandbox), การพัฒนาระบบพิกัดทางราบและทางดิ่งเพื่อสนับสนุนการทำเหมืองเปิดถ่านหินลิกไนต์แม่เมาะ, อุปกรณ์ชาร์จรถอีวีในบ้าน (EGAT Wall Box), การซื้อขายสิทธิการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC), EGAT EV Business Solutions, ระบบบริหารจัดการพลังงาน (EGAT's Smart Energy Solution: ENZY) เป็นต้น