posttoday

ชง 6 ข้อเร่งด่วนดูแลแรงงาน โอดรัฐฉีดวัคซีนล่าช้า

25 สิงหาคม 2564

หอการค้าฯร่อน 6 แนวทางแก้คลัสเตอร์โควิดในโรงงาน เร่งฉีดวัคซีนแรงงานไทย-ต่างด้าว ตั้งทีมไทยแลนด์นำเข้าแรงงาน 5 แสนคนป้อนภาคการผลิต

ดร.พจน์  อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย และ ประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า  หอการค้าฯได้จัดทำข้อเสนอเร่งด่วนไปยังรัฐบาลในการดูแลแรงงานทั้งคนไทยและแรงงานต่างด้าวเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19  ไม่ให้เกิดกลุ่มคลัสเตอร์ ซึ่งต้องยอมรับว่ายังได้รับการจัดการที่ล่าช้าอยู่ดังนี้

1.เร่งรัดการจัดสรรวัคซีนให้กับลูกจ้างผู้ประกันตนอย่างเร่งด่วนโดยเฉพาะพื้นที่สีแดง  ที่มีอยู่ 11 ล้านคน ได้รับการฉีดวัคซีนไปเพียง 2.5 ล้านคนเท่านั้น ในพื้นที่ 10 จังหวัด และยังมีแรงงานต่างด้าวถูกกฏหมายอีกกว่า 1 ล้านคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน

2. สนับสนุนโครงการ Factory Sandbox อย่างต่อเนื่อง โดยต้องเร่งขับเคลื่อนทุกจังหวัดและมีระบบที่เหมือนกันเพื่อ จับคู่ระหว่างสถานประกอบกิจการ โรงพยาบาล และภาครัฐในพื้นที่ ภายใต้แนวคิด “ตรวจ รักษา ควบคุม ดูแล”  3. เร่งรัดการจัดหาเตียงสำหรับผู้ประกันตนและในกลุ่มแรงงานที่ติดเชื้อ โควิด-19 โดยเฉพาะเตียงสีเหลืองและเตียงสีแดง

4. จัดสรรวัคซีนให้เข้าถึงกลุ่มแรงงานทุกภาคส่วน ทั้งที่ไม่ใช่ผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือในกลุ่มสีเทา เพื่อรับวัคซีนโควตาพิเศษ    5. ตามมติคณะรัฐมนตรีที่ได้ผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ จำนวน 1.3 ล้านคน ให้สามารถทำงานต่อในราชอาณาจักรไทยได้นั้น จึงขอให้เร่งดำเนินการจัดสรรวัคซีนและจับคู่งานกับนายจ้าง (Matching) เพื่อให้เข้าสู่ระบบโดยเร็ว

6. จัดตั้ง Team Thailand เพื่อศึกษาแนวทางการนำเข้าและบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ที่ต้องการ 5 แสนคน และศึกษาแนวทางการนำเข้าแรงงานต่างด้าว MOU แบบบูรณาการตามมาตรการของสาธารณสุข

อย่างไรก็ตามประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 มาเป็นเวลานาน และมีสถิติตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประจำวันเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นคน/วัน ซึ่งหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศจากการล๊อคดาว์น รวมถึงผลจากการระลอกที่ 3 และระลอกที่ 4 จากเดือน มกราคมจนถึงเดือนสิงหาคม 2564 ความเสียหายทางเศรษฐกิจนั้น ประมาณ 8 แสน ถึง 1 ล้านล้านบาท ซึ่งหากประเทศไทยต้องมีการขยายการล๊อคดาว์นต่อไป อาจส่งผลกระทบเกิน 1 ล้านล้านบาท และทำให้จีดีพีปีนี้ มีโอกาสติดลบ -1.5% ถึง 0 %

ทั้งนี้ ในนามภาคเอกชนต้องขอขอบคุณ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา)  รองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (คุณอนุทิน ชาญวีกุล)  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (คุณสุชาติ ชมกลิ่น) ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหาร ข้าราชการกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข   ที่ได้เร่งรัดดำเนินการออกมาตรการเยียวยาประชาชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ร่วมเสนอมาตรการในการดูแลสถานประกอบการและลูกจ้างร่วมกับกระทรวงแรงงาน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง

นายวิบูลย์  สุภัครพงษ์กุล รองประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า มาตรการในการดูแลสถานประกอบการและลูกจ้างร่วมกับกระทรวงแรงงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 

1) มาตรการเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกันตน

2) มาตรการตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เชิงรุกใน                           สถานประกอบการ

3) มาตรการเยียวยาผู้ประกันตนและสถานประกอบการ

4) มาตรการการบริหารจัดการช่วยเหลือสนับสนุนแรงงานต่างด้าว