posttoday

ส.อ.ท.กระทุ้งรัฐชง 4 แนวทาง กู้ภาคอุตสากรรมพ้นโควิด

23 สิงหาคม 2564

ส.อ.ท.สับรัฐเมินช่วยภาคอุตสาหกรรมห่วงคลัสเตอร์รง.พุ่ง 1 พันกว่าแห่ง ฉุดเศรษฐกิจพังพินาศ ชี้รัฐต้องอุดหนุนค่าชุดตรวจATK และการจัดตั้งรพ.สนาม

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยกำลังเข้าสู่ขั้นวิกฤติและส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วนของประเทศ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเกิดการติดเชื้อในโรงงาน กว่า 1,000  แห่ง

ทั้งนี้ส.อ.ท.ในฐานะองค์กรหลักภาคเอกชนที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ ได้จัดทำ “มาตรการควบคุมโควิดในภาคอุตสาหกรรม” เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและอาการรุนแรง พร้อมรักษากำลังการผลิตให้มากที่สุด ซึ่งโรงงานที่ดำเนินการอย่างถูกต้องจะไม่ถูกปิด ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ติดโควิดไม่ต้องปิดโรงงาน” แบ่งออกเป็น 3 ข้อ ดังนี้ คือ 1. มาตรการ Bubble and Seal สำหรับภาคอุตสาหกรรมต้องมีความชัดเจน สามารถนำไปปฏิบัติ ได้จริงและเป็นไปในแนวทางเดียวกันทุกพื้นที่ โดยให้สุ่มตรวจหาผู้ติดเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK สม่ำเสมอ 10% ของจำนวนพนักงาน ทุก 14 วัน โดยรัฐบาลต้องสนับสนุนค่าใช้จ่าย อาจจัดสรรจากงบสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือรัฐจะจัดหามาให้โดยตรก็ได้ตามจำนวนที่ตกลงกันเบื้องต้นคาดจะใช้เงิน 3,200  ล้านบาท

ส.อ.ท.กระทุ้งรัฐชง 4 แนวทาง กู้ภาคอุตสากรรมพ้นโควิด

2. สถานประกอบการที่มีพนักงาน 300 คนขึ้นไป เสนอให้กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้ง Factory Quarantine และ Factory Accommodation Isolation โดยให้มีจำนวนเตียงๆไม่น้อยกว่า 5% ของจำนวนพนักงาน และเสนอให้กระทรวงแรงงานจัดตั้งโรงพยาบาลแม่ข่ายในแต่ละพื้นที่ประกันสังคม เพื่อให้บริการโรงงานในพื้นที่ ณ จุดเดียว ตั้งแต่การตรวจหาเชื้อไปจนถึงส่งต่อผู้ป่วยเข้าไปในระบบการรักษา เพื่อลดขั้นตอนในการหาโรงพยาบาล

3.สำหรับสถานประกอบการที่มีพนักงานต่ำกว่า 300 คน ขอให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมจัดตั้ง Community Quarantine (CQ), Community Isolation (CI) (ศูนย์พักคอยและแยกกักตัว) ให้เพียงพอกับแรงงาน โดยให้มีจำนวนเตียงไม่น้อยกว่า 5% ของจำนวนพนักงานในพื้นที่  

ส.อ.ท.กระทุ้งรัฐชง 4 แนวทาง กู้ภาคอุตสากรรมพ้นโควิด

4. จัดสรรวัคซีนตามเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต โดยจัดสรรตามลำดับความสำคัญทางสาธารณสุข การป้องกันโรค และเศรษฐกิจใน 3 กลุ่มคือ กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่อายุ 40-59 ปี กลุ่มพนักงานในสถานประกอบการที่มีติดเชื้อมากกว่า 50% จนต้องปิดกิจการ และกลุ่มพนักงานในอุตสาหกรรมสำคัญยิ่งยวด

“ภาคอุตสาหกรรมพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐทุกขั้นตอน  แต่ต้องยอมรับว่ามาตรการที่ออกมา ในแต่ละจังหวัดก็ไม่เหมือนกัน บางส่วนมีปัญหาในการจัดการ ขณะที่โรงงานมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงขึ้นจากมาตรการที่ออกมา  วันนี้รัฐมีแต่ออกคำสั่งที่ชัดเจน แต่ไม่มีงบประมาณมาช่วยดูแล ถ้ารัฐไม่ช่วย โรงงานต้องปิด การผลิตชะงักลง  โดยข้อเสนอที่จัดทำขึ้น อยากให้รัฐตอบโดยเร็ว ยอมรับว่าตอนนี้โรงงานชะลอการผลิตไป5-10%