posttoday

จับตาส่งออกครึ่งหลังโควิดทุบเสียหาย 2-3 แสนล้าน

03 สิงหาคม 2564

สรท.ชี้หากคลัสเตอร์รง.ยังไม่หยุดกระทบส่งออกช่วงหลังของปีหายวับ 3 แสนล้าน คาดทั้งปีโตแค่ 10% จี้รัฐเร่งฉีดวัคซีนพยุงเศรษฐกิจไทย

ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนมิถุนายน 2564 ว่า การส่งออกมีมูลค่า 23,699 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 43.82% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 738,135.34 ล้านบาท เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนมิถุนายนขยายตัว 41.56%

ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 22,754.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 53.75% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 718,651.32 ล้านบาท ขยายตัว 51.33% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมิถุนายน 2564 เกินดุลเท่ากับ 945.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 19,484.02 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 132,334.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 15.53%  ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 129,895.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 26.15% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 เกินดุลเท่ากับ 945.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ สรท. คงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 เติบโต 10%  (ณ เดือนสิงหาคม 2564) โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญในปี 2564 ได้แก่1. การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจโลก 2. ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าใกล้เคียง 33 บาทต่อดอลลาสหรัฐ 3.ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องถึงระดับ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลจากแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่1.สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่มีความรุนแรงในประเทศ หากไม่สามารถควบคุมและลดการแพร่ระบาดได้อาจจะกระทบเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง โดยเฉพาะภาคการส่งออกซึ่งถือเครื่องจักรตัวสุดท้ายที่ยังขับเคลื่อน ซึ่งกรณีการติดเชื้อในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมเริ่มแพร่กระจายมากขึ้นกระทบต่อกำลังการผลิต และการส่งมอบสินค้า ทำให้การส่งออกเติบโตได้เพียง 10% จากที่คาดว่ามีโอกาสเติบโตได้ถึง 15%  

ด้านมาตรการ Bubble & Seal ซึ่งโรงงานขนาดเอสเอ็มอี ส่วนใหญ่อาจไม่สามารถดำเนินการได้และมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และภาครัฐไม่สามารถอำนวยความสะดวกและสนับสนุนได้ทั้งหมด

2.ปริมาณความต้องการตู้สินค้ายังไม่เข้าสู่ภาวะสมดุล ค่าระวางเรือยังคงปรับตัวอยู่ในทิศทางขาขึ้นเกือบทุกเส้นทางโดยเฉพาะเส้นทางยุโรปและสหรัฐเนื่องด้วยปริมาณการขนส่งทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อ

3.แรงงานขาดแคลนขณะที่แรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศและยังไม่ได้เดินทางกลับเข้ามา ประกอบกับยังไม่สามารถจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ให้เพียงพอกับจำนวนแรงงานในภาคการผลิต ซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนแรงงานให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น

4.ปัจจัยการผลิตมีปริมาณไม่เพียงพอ ส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น อาทิ Semiconductor Chip / Steel โดยเฉพาะต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น และไม่สามารถผลิตได้ตามกำลังการผลิตหรือความต้องการของตลาดโลก

“ส่งออกปีนี้จะโตได้เพียง 10% แต่ถ้าการจัดการเรื่องวัคซีน และลดคลัสเตอร์ในโรงงานภาคการผลิตไม่ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มอาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ สิ่งทอ จะทำให้เกิดความเสียหายถึง 2-3  แสนล้านบาท และอาจทำให้ส่งออกต่ำสุดโตได้แค่ 7%”

อย่างไรก็ตามได้จัดทำข้อเสนอแนะและความเห็นของสรท. ดังนี้ 1. สรท. ไม่เห็นด้วยกับมาตรการ Fully Lockdown โดยขอ “ยกเว้น” ให้ภาคการผลิตและกิจกรรมโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและนำเข้า อาทิ การปฏิบัติงานของท่าเรือ การขนส่งสินค้าเข้าสู่ท่าเรือ ยังสามารถดำเนินการได้ต่อเนื่องเพราะมีผลต่อสัญญาการค้าระหว่างประเทศและหลายธุรกิจมีสัดส่วนการผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศ หากมีการหยุดประกอบการ จะส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศตามมาในที่สุด

2.เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งบริหารจัดการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนโดยเฉพาะแรงงานภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกให้เร็วที่สุด  3.ขอให้ปรับใช้มาตรการทางสาธารณสุขที่เป็นมาตรฐานเดียวจากส่วนกลางเพื่อให้สามารถดำเนินการเหมือนกันในแต่ละพื้นที่จังหวัด โดยเฉพาะกรณีโรงงานที่มีพนักงานอยู่ในกลุ่มเสี่ยง

4.เรียกร้องให้หน่วยงานราชการเร่งปรับปรุงการทำงานในการจัดการด้านเอกสารออนไลน์(e-Document)และการขออนุญาต/ใบรับรองเพื่อการส่งออกนำเข้าผ่านระบบ National Single Window (NSW) เพื่อลดการสัมผัสจากการเข้าไปติดต่อราชการ