posttoday

จับทิศไบโอดีเซล-เอทานอล ขาขึ้น รับดีมานด์ตลาดโลก

16 มิถุนายน 2564

สนพ.ทบทวนสูตรราคาเชื้อเพลิงชีวภาพสะท้อนสถานการณ์จริง คาดแนวโน้มตลาดโลกเพิ่มขึ้น หลังสหรัฐ-จีนต้องการสูง หวั่นแห่ส่งออกน้ำมันปาล์มดิบดันราคาในไทยพุ่ง

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สนพ.อยู่ระหว่างการทบทวนหลักเกณฑ์การกำหนดราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ  ทั้งไบโอดีเซลและเอทานอล เพื่อให้ราคาเชื้อเพลิงชีวภาพสะท้อนกับสถานการณ์ปัจจุบันและเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน ส่งผลให้ประชาชนได้ใช้น้ำมันในราคาถูกลง รวมไปถึงการสร้างรายได้ให้เกษตรกร และสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากได้อีกด้วย

ปัจจุบันราคาอ้างอิงในการคำนวณโครงสร้างราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันเชื้อเพลิงมีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ (ไบโอดีเซลและเอทานอล) ซึ่งสถานการณ์การผลิต เทคโนโลยีเชื้อเพลิงชีวภาพมีการเปลี่ยนแปลงไป

สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ  ราคาน้ำมันไบโอดีเซลอ้างอิงเฉลี่ย ระหว่างวันที่ 14 - 20 มิ.ย. 64 อยู่ที่ 38.18 บาทต่อลิตร ลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.20 บาทต่อลิตร เป็นผลจากราคาผลปาล์มน้ำมันระหว่างวันที่ 7 - 13  มิ.ย. เฉลี่ยอยู่ที่ 5.70 - 7.00 บาทต่อกิโลกรัม (ก.ก.) ส่วนราคาน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 34.50 - 35.75 บาทต่อก.ก. เป็นช่วงที่มีผลผลิตในตลาดตามฤดูกาล

ด้านราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกอยู่ที่ประมาณ 32.80 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น  เนื่องจากประเทศจีน และประเทศสหรัฐมีความต้องการซื้อน้ำมันปาล์มในจำนวนมาก คาดการณ์ว่าจะทำให้ราคาตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้โรงสกัดส่งน้ำมันปาล์มดิบออกไปขายที่ต่างประเทศมากขึ้น ทำให้ราคาขายในประเทศปรับตัวสูงขึ้น จากความต้องการซื้อน้ำมันปาล์มดิบที่มากกว่าความต้องการขายในประเทศ

ส่วนราคาเอทานอลอ้างอิงในเดือนมิถุนายน อยู่ที่ 25.84 บาทต่อลิตรโดยราคาเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.01 บาทต่อลิตร  ทั้งนี้ ปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ ณ สิ้นเดือน เมษายน 2564 ประมาณ 194,121 ตัน ส่วนสต็อกน้ำมัน ไบโอดีเซล (B100) ณ สิ้นเดือนเมษายน 2564 เท่ากับ 73.79 ล้านลิตร

อย่างไรก็ตามกระทรวงพลังงาน มีนโยบายสนับสนุนผลผลิตทางการเกษตร เช่น ปาล์มน้ำมันมาผลิตเป็นไบโอดีเซล อ้อยและมันสำปะหลังมาผลิตเป็นเอทานอลเพื่อทดแทนการใช้น้ำมันเบนซิน ทำให้ปัจจุบันไทยมีน้ำมันเชื้อเพลิง มีหลากหลายชนิดขึ้น เช่น น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B7 ,B10 และ B20 และแก๊สโซฮอล์ 91 และ 95, แก๊สโซฮอล์ E20, แก๊สโซฮอล์ E85 เป็นต้น

นอกจากจะช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศแล้วยังช่วยรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรและสร้างรายได้ให้เกษตรกร และทำให้เกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม