posttoday

โควิด-การเมืองฉุดความเชื่อมั่นคนไทยต่ำสุดรอบ 22 ปี

10 มิถุนายน 2564

ดัชนีเชื่อมั่นฯเดือนพ.ค.ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ผลจากโควิดระลอก 3 การเมืองไม่นิ่ง ขณะที่คนไทยกังวลการฉีดวัคซีนล่าช้า หวั่นเศรษฐกิจไม่ฟื้น จี้รัฐออกมาตรการกระตุ้นต่อเนื่องไตรมาส3

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนพฤษภาคม 2564ปรับตัวลดลงทุกรายการ โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมอยู่ที่ ปรับตัวลดลงจากระดับ 46.0 เป็น 44.7 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 272 เดือนหรือ 22 ปี 8 เดือนนับตั้งแต่ทำการสำรวจในเดือนตุลาคม 2541 เป็นต้นมา  

ทั้งนี้มีปัจจัยสำคัญจากความกังวลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของในประเทศไทยในรอบที่ 3 ประกอบกับความกังวลในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพน้อยลงและการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ล่าช้าส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนักและขาดแรงกระตุ้นในการฟื้นตัว แม้ว่ามาตรการของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะโครงการ “เราชนะ” และโครงการต่างๆ จะมีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้นทั่วประเทศในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม  

“การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงอีกครั้งท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิดรอบใหม่ แสดงว่าผู้บริโภคยังคงวิตกกังวลต่อสถานการณ์โควิด ถ้าการฉีดวัคซีนทำได้มากขึ้นในช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค. รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาต่อเนื่องและ ภูเก็ต แซนบอกซ์ เป็นไปตามแผน และการส่งออกไทยฟื้นตัวเติบโตได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 7 จะเป็นตัวช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยในปีนี้ได้”นายธนวรรธน์กล่าว. 

อย่างไรก็ตามต้องติดตามของการฉีดวัคซีนทั่วประเทศในเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป การแพร่กระจายของโควิดรอบที่ 3 ว่าจะลดลงหรือไม่และรัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคตมากน้อยเพียงใด จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้ และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวใกล้เคียง 2% ได้