posttoday

สศอ.ขับเคลื่อน Eco System ดันไทยฮับอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในอาเซียน

26 พฤษภาคม 2564

ไทยเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ยกระดับศักยภาพการแข่งขัน ทั้งรถอีวี -อิเล็กทรอนิกส์-หุ่นยนต์-เครื่องมือแพทย์ หวังขึ้นแท่นในอาเซียน

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่าในรอบ 6 เดือนแรก(ต.ค.63-มี.ค.64) ของปีงบประมาณ 2564 ได้ดำเนินนโยบาย 3 อุตสาหกรรมศักยภาพ (S-Curve)  โดยเฉพาะยานยนต์สมัยใหม่ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้นในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี)ในประเทศ

นอกจากนี้ยังจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2564 - 2570) เพื่อสร้างและพัฒนา Eco System ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอุปกรณ์และระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในอาเซียน ซึ่งคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในปีนี้

ขณะเดียวกันยังได้เสนอการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบใน 5 มาตรการ 6 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคัลของประเทศตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยจะยกระดับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มให้มีมูลค่าเพิ่มและเป็นอุตสาหกรรม ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดรับกับการพัฒนาภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)

รวมไปถึงการเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมการแปรรูปสับปะรดให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน สนับสนุนการวิจัยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าสับปะรดทั้งระบบ เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ  ตลอดห่วงโซ่อุปทาน

สำหรับอุตสาหกรรมอนาคต (News S-Curve) สศอ. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คืบหน้าตามลำดับ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินมาตรการต่าง ๆตาม Roadmap ที่จะให้ประเทศไทยมีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเป็นผู้นำในการผลิตและการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในภูมิภาคอาเซียน

ด้านอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพได้จัดทำมาตรการกระตุ้นการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ โดยการออกใบรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ให้กับผู้ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกที่จำหน่ายในระหว่างปี 2562 - 2564 จำนวน 11 ผลิตภัณฑ์ และออกใบรับรองให้กับผู้ประกอบการไปแล้วจำนวน 42 ใบรับรอง พร้อมทั้งเร่งดำเนินการยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร โดยพัฒนาผู้ประกอบการในการผลิตเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์และต้นแบบวัสดุเชิงเทคนิค ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือแพทย์ต้นแบบ 12 ผลิตภัณฑ์

สศอ.ขับเคลื่อน Eco System ดันไทยฮับอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในอาเซียน

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2564 - 2570) เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสู่ระดับสากล สร้างความมั่นคงให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญต่อไป

สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและเครื่องจักรกลการเกษตร สศอ. อยู่ระหว่างจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2565 - 2570) เพื่อยกระดับผู้ประกอบการให้มีศักยภาพในการผลิตที่สูงขึ้น เพิ่มความสะดวกให้แก่เกษตรกรผู้ใช้งาน รวมถึงลดการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยทั้ง 2 แผนปฏิบัติการอยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในปี 2564

นายทองชัย กล่าวว่า เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมเกิดการเชื่อมโยงขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ สศอ. ในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพจัดทำแผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 และผลิตภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 โดยในปีงบประมาณ 2565 ได้จัดส่งคำของบประมาณให้สำนักงบประมาณพิจารณาในกรอบวงเงิน 873.0646 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่วาระการพิจารณาร่าง พรบ. ในปลายเดือนพฤษภาคม 2564 นี้

นอกจากนี้ จากการที่รัฐบาลได้ประกาศให้เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายให้การพัฒนาประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน สศอ. ได้รับมอบหมายให้จัดทำแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในอุตสาหกรรมเหล็กและอุตสาหกรรมยางรถยนต์ และเข้าร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจตามแผน BCG Model ทั้งในระดับประเทศและกระทรวงอุตสาหกรรม