posttoday

EIC  มองปีนี้ ไทยมีลุ้นตลาดส่งออกฟื้นตามเศรษฐกิจโลก 'ถุงมือยาง' โตสุด 'ข้าว' หดตัว

24 เมษายน 2564

EIC ไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ส่งออกเดือนมี.ค. ฟื้นตัวแข็งแกร่งตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก พร้อมคาดส่งออกปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวราว 7-9% เพิ่มจากที่เคยคาดไว้ที่ 6.4%

EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ เผยผลวิเคราะห์ระบุว่า มูลค่าการส่งออกเดือนมีนาคม 2021 ขยายตัวถึง 8.5%YOY และหากหักทองคำการส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 13.8%YOY ทำให้ในช่วงไตรมาสแรกของปี2021 มูลค่าการส่งออกพลิกกลับมาขยายตัวที่ 2.3%YOY และหากไม่รวมทองคำ การส่งออกจะเติบโตถึง 8.2%YOY ในช่วงไตรมาสแรก 

ด้านการส่งออกรายสินค้า พบว่าการส่งออกสินค้าสำคัญทุกประเภทมีการขยายตัว โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวสูง ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง และเม็ดพลาสติก

การส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบเดือนมีนาคมขยายตัวถึง 43.1%YOY โดย  มีมูลค่าส่งออกที่ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นมูลค่าสูงสุด (ต่อเดือน) เท่าที่ไทยเคยส่งออกได้ ซึ่งตลาดหลักที่ไทยส่งออกในเดือนมีนาคมที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ออสเตรเลีย (84.9%YOY) ญี่ปุ่น (37.6%YOY) และเวียดนาม (50.2%YOY)ผลิตภัณฑ์ยางยังขยายตัวต่อเนื่องที่ 50.6%YOY 

โดยสินค้าหลักที่ขยายตัวดี คือถุงมือยาง (271.5%YOY) ตามความต้องการอุปกรณ์การแพทย์ที่ขยายตัวสูง และยางยานพาหนะ (31.5%YOY) ตามการฟื้นตัว ของอุตสาหกรรมยานยนต์โลกเม็ดพลาสติกขยายตัวดีที่ 52.9%YOY โดยมีตลาดหลักคือ จีน (70.1%YOY) อินเดีย (66.2%YOY) และอินโดนีเซีย (39.7%YOY)ด้านการส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวดีเช่นกันในภาพรวมที่ 11.5%YOY โดยสินค้าหลักที่ขยายตัวดีคือ ยางพารา (109.2%YOY) และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (59.2%YOY)

แต่การส่งออกข้าวหดตัวที่ -41.5%YOY ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปพลิกกลับมาขยายตัวได้เล็กน้อยที่ 0.9%YOY นำโดยการขยายตัวของอาหารทะเลแปรรูป (4.2%YOY) แต่มีปัจจัยฉุดจาการหดตัวของการส่งออกน้ำตาลทราย (-60.6%YOY)การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปพลิกกลับมาขยายตัวที่ 21.6%YOY โดยส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยราคาที่ปรับสูงขึ้นมากในช่วงเดือนมีนาคมด้านการส่งออกรายตลาด พบว่าการส่งออกไปตลาดหลักขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจีน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป แต่การส่งออกไปยังกลุ่มอาเซียน 5 และตะวันออกกลางยังหดตัว

การส่งออกไปจีนขยายตัวในอัตราเร่งที่ 35.4%YOY โดยสินค้าหลักที่ส่งออกได้แก่ เม็ดพลาสติก (70.1%YOY) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (118.9%YOY) และผลิตภัณฑ์ยาง (10.6%YOY)การส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัวชะลอลง แต่ก็ยังขยายตัวดีที่ 7.2%YOY ซึ่งมีสินค้าหลักที่ขยายตัวคือ ผลิตภัณฑ์ยาง (88.3%YOY) เหล็ก (124.5%YOY) และรถยนต์และส่วนประกอบ (62.9%YOY)การส่งออกไปยุโรปขยายตัวเร่งขึ้นมากมาอยู่ที่ 32.0%YOY โดยมีสินค้าหลักคือ คอมพิวเตอร์ (88.2%YOY) รถยนต์และส่วนประกอบ (116.6%YOY) และเครื่องปรับอากาศ (47.0%YOY)

อย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังตะวันออกกลาง มีการหดตัวในเดือนมีนาคม โดยสินค้าหลักที่หดตัวในตลาดตะวันออกกลาง คือ รถยนต์ (-4.1%YOY) และเครื่องปรับอากาศ (-29.6%YOY)การส่งออกที่หดตัวในตลาดฮ่องกง (-26.8%YOY) เกิดจากการลดลงของการส่งออกทองคำ (-92.9%YOY) คอมพิวเตอร์ (-0.4%YOY) และข้าว (-26.4%YOY)ในส่วนของการส่งออกไปตลาดอาเซียน 5 ที่หดตัว -2.4%YOY มีสินค้าหลักที่ส่งออกลดลง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป (-16.3%YOY) อัญมณีและเครื่องประดับ (-84.2%YOY) เครื่องปรับอากาศ (-11.3%YOY) และน้ำตาลทราย (-67.5%YOY) 

ด้านมูลค่านำเข้าในเดือนมีนาคม 2021 ขยายตัวสูงที่ 14.1%YOY ต่อเนื่องจากการขยายตัวในระดับสูงที่ 22.0%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยเป็นการขยายตัวในเกือบทุกหมวดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สินค้าทุน (16.8%YOY), สินค้าอุปโภคบริโภค (21.9%YOY), และยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง (11.3%YOY) ขณะที่สินค้าเชื้อเพลิงหดตัวที่ -9.5%YOY 

ในส่วนของการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปขยายตัวเช่นกันที่ 29.6%YOY แต่หากหักทองคำจะเหลือขยายตัวที่ 9.3%YOY แต่ก็ยังนับเป็นการขยายตัวที่สูง ซึ่งส่วนหนึ่งของการนำเข้าวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นอาจนำไปผลิตสินค้าส่งออก จึงเป็นสัญญาณที่ดีต่อการฟื้นตัวของภาคส่งออกในระยะต่อไป ทั้งนี้ช่วงไตรมาสแรกของปี 2021 การนำเข้าขยายตัวที่ 9.4%YOY ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลเล็กน้อยที่ 515.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงไตรมาสแรก

ขณะที่ การค้าโลกยังมีทิศทางปรับดีขึ้นต่อเนื่อง แม้การระบาดของ COVID-19 จะกลับมาอีกครั้งทั่วโลก

โดยตั้งแต่ในช่วงเดือนมีนาคม 2021 COVID-19 เริ่มกลับมาระบาดอีกครั้งทั่วโลก เนื่องจากการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ส่งผลให้การฟื้นตัวของหลายเศรษฐกิจกลับมาชะลอตัว แต่การชะลอตัวดังกล่าวมีสาเหตุหลักมาจากภาวะความซบเซาของภาคบริการ ขณะที่ภาคการผลิตยังมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนี Manufacturing PMI ของประเทศสำคัญ และดัชนี Global PMI – Export orders ที่มีระดับเหนือ 50 (ขยายตัวจากเดือนก่อนหน้า) และปรับเพิ่มขึ้น 

นอกจากนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออกของประเทศส่งออกสำคัญของโลกก็พบว่ามีการขยายตัวเร่งขึ้นเช่นกัน สะท้อนการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาวะการส่งออกโลกในช่วงที่ผ่านมา 

ในระยะข้างหน้า EIC คาดว่าการส่งออกไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยคาดว่าการส่งออกปี 2021 มีโอกาสขยายตัวในช่วง 7-9% ดีกว่าที่เคยคาดไว้ที่ 6.4%

เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั่วโลก โดยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็วกว่า ซึ่งจากข้อมูล พบว่าการฟื้นตัวของการส่งออกไทยในตลาดสำคัญมีความแตกต่างกัน กล่าวคือการส่งออกไปประเทศพัฒนาแล้ว (สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป

รวมถึงจีนที่มีการควบคุมโรคดีมากจนมีการระบาดระดับต่ำ) มีการฟื้นตัวกลับมาในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนการระบาดของ COVID-19 แล้ว (ช่วงไตรมาสแรกปี 2020) ขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (ตะวันออกกลาง, CLMV, อาเซียน 5) จะมีการฟื้นตัวที่ช้ากว่า สอดคล้องกับคาดการณ์ของ IMF (WEO รอบเดือนเมษายน) ที่คาดไว้ว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Advanced countries) จะฟื้นตัวได้เร็วกว่า เนื่องจากมีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนเร็วกว่า โดยหลายประเทศมีแนวโน้มที่จะได้ ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ในช่วงกลางปี 2021 เป็นต้นไป

ประกอบกับความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีมากกว่า จึงทำให้เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศดังกล่าวมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดี ขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีแนวโน้ม ฟื้นตัวช้า จากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนที่ช้ากว่าและเม็ดเงินที่จะอัดฉีดในระบบเศรษฐกิจที่มีน้อยกว่า 

การฟื้นตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity prices) ก็จะเป็นอีกปัจจัยสนับสนุนมูลค่าการส่งออกของไทยในปีนี้ ผ่านการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น สินค้าเกษตร (เช่น น้ำตาล, ยางพารา และข้าว) น้ำมันสำเร็จรูป, เคมีภัณฑ์ และเหล็ก เป็นต้นปัจจัยฐานต่ำในช่วงไตรมาส 2 ของปีก่อน 

เนื่องจากหลายประเทศมีมาตรการปิดเมืองอย่างเข้มงวด ทำให้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ จะขยายตัวได้เป็นเลขสองหลัก ซึ่งเป็นอีกปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของการส่งออกในปีนี้โดยสรุป จากการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของภาวะการค้าโลก รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่จะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นตามความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน

โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว ประกอบกับราคาสินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัว รวมถึงปัจจัยฐานต่ำในช่วงไตรมาส 2 ทำให้ EIC คาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยมีโอกาสขยายตัวได้ในช่วง 7–9% ปรับดีขึ้นกว่าที่เคยคาดไว้ที่ 6.4%

อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นที่เป็นความเสี่ยงด้านต่ำต่อการส่งออกไทยในระยะข้างหน้า ได้แก่

  1. ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และอัตราค่าระวางเรือที่ยังสูงต่อเนื่อง โดยคาดว่าปัญหาดังกล่าวจะยังเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 ก่อนจะปรับดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
  2. การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ทั่วโลก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าส่งออกที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน โดยจากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มมากขึ้นตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากผลกระทบของ COVID-19 และการหยุดการผลิตในช่วงก่อนหน้าที่มีการระบาดของ COVID-19 ในปีก่อน กอปรกับปัญหาภัยแล้งในไต้หวันซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลก ล้วนทำให้เกิดเหตุการณ์ขาดแคลนชิป ซึ่งส่งผลกระทบต่อหลายอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาชิป เช่น โทรศัพท์มือถือ เครื่องเกมส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น ปัญหาดังกล่าวจะยังเป็นปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยกดดันต่อการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี
  3. การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 โดยแม้ว่าการระบาดในช่วงปัจจุบันจะไม่ส่งผลต่อภาคการผลิตและการค้าของโลกมากนัก แต่หากไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดจนทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก ก็อาจทำให้หลายประเทศต้องกลับมาใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่ยังไม่ได้ภูมิคุ้มกันต่อ COVID-19 ซึ่งมีโอกาสกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและภาวะการค้าของโลกในที่สุด

บทวิเคราะห์จาก https://www.scbeic.com/th/detail/product/7541