posttoday

ดัชนีผลผลิตฯยังติดลบ 1.08% ลุ้นสัญญาณฟื้นหลังผ่านโควิดระลอก2

31 มีนาคม 2564

สศอ.เชื่อเศรษฐกิจอุตสาหกรรมแนวโน้มดีขึ้น หลังรัฐอัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เร่งฉีดวัคซีน เปิดรับนักท่องเที่ยว ขณะที่ภาคการผลิตเริ่มมีอออเดอร์ ทั้งยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และอาหาร

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)  เปิดเผยถึง ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนก.พ. 2564 หดตัวเล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ 1.08 โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน ก.พ.64 อยู่ที่ระดับร้อยละ 65.08 ลดลงจากเดือน ม.ค. 64 อยู่ที่ระดับร้อยละ 66.60 เนื่องจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ทำให้ภาครัฐออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโดยกำหนดพื้นที่ควบคุม แม้ในเดือนนี้จะมีการผ่อนคลายบางส่วนแล้ว แต่ยังส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลงบ้างเล็กน้อย

ทั้งนี้คาดว่าเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมไทยจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการคนละครึ่ง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เราชนะ และโครงการเรารักกัน เป็นต้น อีกทั้งการผ่อนคลายมาตรการควบคุมในบางพื้นที่ ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น และพร้อมเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวเร็วกว่าแผนเดิมจากไตรมาส 4 ขยับมาเป็นไตรมาส 3 และมีแผนนำร่องในเดือนเม.ย. โดยจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดแรก จะส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือนก.พ. 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ น้ำตาล ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.85 จากปริมาณอ้อยที่เข้าหีบมีมากกว่าปีก่อน  ด้านชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ16.30 จากความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ยังมีความต้องการต่อเนื่อง

ดัชนีผลผลิตฯยังติดลบ 1.08%  ลุ้นสัญญาณฟื้นหลังผ่านโควิดระลอก2

ส่วนรถยนต์และเครื่องยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.97 จากรถบรรทุกปิคอัพ และเครื่องยนต์ดีเซล ที่มีคำสั่งซื้อทะยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้ง ผู้ผลิตมีการผลิตรถรุ่นใหม่ ๆ

ขณะที่เม็ดพลาสติก ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ16.43 จากความต้องการที่ขยายตัวในอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่าง ๆ ทั้งบรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์ ประกอบกับปีก่อนมีผู้ผลิตหลายรายหยุดซ่อมบำรุงตามรอบการซ่อมบำรุง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ  รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า การผลิตในอุตสาหกรรมหลักกลับมาขยายตัว ทั้งรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอาหาร ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) และรายการพิเศษ เดือนก.พ. ขยายตัวร้อยละ 6.94 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัว เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง (ถุงมือยาง) เม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ เนื่องจากความเชื่อมั่นในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้บริการแก่ประชาชน    ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการกระจายรายได้อย่างหมุนเวียน