posttoday

ดิสรัปท์ฯ รีวิว 5 สตาร์ทอัพไทย ปรับแผนธุรกิจฝ่าวิกฤตโควิด-19

20 มกราคม 2564

ดิสรัปท์ กางแผนทางรอดธุรกิจสตาร์ทอัพไทย พลิกตัวเก่งจนรอดวิกฤตโควิด-19 ระลอกแรก เผยเทคนิค "ปรับตัวให้ไว" ยังไงก็ไปต่อได้

รายงานข่าวจาก บริษัท ดิสรัปท์ เทคโนโลยี เวนเจอร์ และ 500 TukTuks กองทุนธุรกิจสตาร์ทอัพ ระบุทิศทางการดำเนินธุรกิจสตาร์ทอัพไทย ผ่านกองทุน 500 TukTuks ในปี 2563 ที่ผ่านมา มีความท้าทาย อย่างมาก ปัจจัยหลักจากจากแพร่ระบาด Covid-19 ส่งผลให้ภาครัฐ ประกาศนโยบายปิดประเทศ พร้อมให้ภาคประชาชนกักตัว ที่กระทบยังภาคเศรษฐกิจ จากหลายธุรกิจต้องปิดตัวลง

อย่างไรก็ตาม กลับพบว่าในภาคกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพไทย หลายรายต่างเร่งหาโอกาสใหม่ภายใต้วิกฤตCovid-19 ดังกล่าว โดยสามารถระดมทุนได้ ดังนี้

FINNOMENA

บริษัท Fintech ที่ให้บริการแพลตฟอร์มลงทุนและบริหารจัดการสินทรัพย์ มีเป้าหมายในการสร้างอิสระภาพทางการเงินให้กับคนไทย ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้และการลงทุนได้ ทั้งคลังความรู้ที่พัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน เครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์ คำแนะนำจาก Financial Advisor รวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สามารถเลือกลงทุนได้ตามเป้าหมายทางการเงิน

ในปัจจุบัน FINNOMENA มีผู้สมัครใช้งานแพลตฟอร์มแล้วกว่า 120,000 ราย และได้เติบโตต่อเนื่องในช่วง Covid-19 จนมียอดมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) สูงถึง 10,000 ล้านบาท และขยายตลาดมายังกลุ่มคนทั่วไปที่มองหาทางเลือกการลงทุนใหม่ ๆ

ทั้งนี้ FINNOMENA มีแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างนวัตกรรมทางการเงินที่ตอบโจทย์การลงทุนของคนไทย และตั้งเป้ายอดมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) 90,000 ล้านบาท ภายในปี 2023

ล่าสุด FINNOMENA ยังได้ ได้ Lead investor นักลงทุนระดับภูมิภาค 2 ราย คือ Openspace และ Gobi Ventures ในรอบการระดมทุน Series B มูลค่า 13.5 ล้านดอลล่าร์สหรัฐไปเมื่อต้นปี ร่วมกับผู้ถือหุ้นปัจจุบัน ได้แก่ 500 TukTuks, Krungsri Finnovate และ BCH Ventures ที่ได้ลงทุนเพิ่มด้วยเช่นกัน

Freshket

แพลตฟอร์ม ซื้อขายวัตถุดิบอาหารและของสด ที่ช่วยเชื่อมต่อซัพพลายเออร์และฟาร์มให้กับผู้ซื้อออนไลน์ ระดมทุนได้ 3 ล้านดอลล่าร์สหรัฐในรอบ Series A จาก Openspace, ECG PE Firm, Innospace, Pamitra Wineka และ Ivan Sustiawan ผู้ร่วมก่อตั้ง TaniHub ซึ่งเป็น Agri-Tech Startup ในอินโดนีเซีย ด้วยเงินลงทุนในรอบนี้ Freshket มุ่งพัฒนาสู่การเป็น enabler สำหรับ supply chain อุตสาหกรรมอาหาร ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี

นางสาวพงษ์ลดา พะเนียงเวทย์ ผู้ก่อตั้ง Freshket กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาธุรกิจFreshket ในช่วงเดือนมกราคม ปีที่ผ่านมา ธุรกิจประสบปัญหาเงินหมด รวมถึงลูกค้าหลัก ขอเลื่อนการชำระเงินออกไปอีก 2 เดือน แต่จากการประกาศล็อคดาวน์ เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ปีที่ผ่านมา ของรัฐบาล และประกาศปิด กทม. เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด Covid-19 ทำให้ร้านอาหารต้องปิดตัวชั่วคราว ยอดการสั่งซื้อ Freshket กว่า 80% ถูกยกเลิก

"เพื่อรับมือกับปัญหาทางการเงิน Freshket ตัดสินใจเปิดแพลตฟอร์มรูปแบบ B2C ให้คนทั่วไปสามารถเข้ามาสั่งได้ ซึ่งเป็นการปรับตัวอย่างรวดเร็ว ขณะที่นักลงทุนรอบ Series A บางรายตัดสินใจไม่ลงทุนเพราะสถานการณ์ Covid-19 แม้จะเจออุปสรรคต่างๆ แต่ด้วยความเขื่อมั่นในธุรกิตทำให้สามารถระดมทุน Series A จาก Openspace และนักลงทุนรายอื่นได้สำเร็จ” นางสาวพงษ์ลดา กล่าว

HungryHub

แพลตฟอร์มรวบรวมดีลร้านอาหาร อีกหนึ่งธุรกิจสตาร์ทอัพที่ปรับตัวได้อย่างรวดเร็วในวิกฤต Covid-19 ด้วยในช่วงเวลาดังกล่าว ธุรกิจจองร้านอาหารต้องหยุดชะงัก ส่งผลให้รายได้ลดลงอย่างฉับพลัน

อย่างไรก็ตาม จากการที่ HungryHub สามารถวางแผนและปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ จากการเปิดให้บริการ HungryHub@home ซึ่งเป็นบริการ food delivery ส่งอาหารถึงบ้าน เพื่อสร้างช่องทางรายได้ใหม่ และยังสามารถช่วยร้านอาหารที่ต้องปิดชั่วคราวสามารถสร้างรายได้

ขณะที่จุดต่างของบริการนี้ คือ พันธมิตรทางธุรกิจซึ่งเป็นร้านอาหารชื่อดังต่างๆ และเซ็ทเมนูอาหารราคาพิเศษที่ออกแบบร่วมกัน การจัดเมนูสั่งอาหารแบบเซ็ททำให้ยอดขายต่อออเดอร์ Average Order Value (AOV) มีมูลค่าสูงกว่าตลาด 3-5 เท่า

นอกจากนี้ยังช่วยให้ร้านอาหาร สามารถบริหารจัดการได้ง่ายกว่าทั่วไป เพราะลูกค้าต้องล่วงหน้าอย่างน้อย 6 ชั่วโมง ที่ช่วยให้ร้านอาหารที่ไม่มีประสบการณ์ขายออนไลน์ สามารถปรับตัวได้ง่ายขึ้น

อีกทั้ง HungryHub ยังคิดค่าบริการเป็นคอมมิชชั่นเพียง 14%-20% ของยอดขายซึ่งต่ำกว่าผู้เล่น food delivery รายอื่นค่อนข้างมาก

ขณะที่แผนการระดมทุน HungryHub ได้รับเงินลงทุนรอบ Pre-Series A จากกองทุน Private Equity ในไทย ที่ช่วยให้ขยายธุรกิจขยายตัวได้มากยิ่งขึ้น และส่งผลดีต่อการเติบโตของบริษัท

ChomCHOB

แอปพลิเคชั่นรวบรวมแต้มจากบัตรเครดิตและบัตรสะสมคะแนนที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถสะสม รวบรวม และแลกเปลี่ยนคะแนนมาเป็น ChomCHOB point เพื่อแลกของรางวัลต่างๆ อาทิ สินค้าและบริการจากพันธมิตร หรือ หน่วยลงทุน ด้วยขนาดตลาดและความเป็นไปได้ในการต่อยอดที่หลากหลาย

โดยทำให้ ChomCHOB สามารถระดมทุนได้ 50 ล้านบาทในรอบ Series A โดยมี Invent เป็น lead investor และมี 500 TukTuks, SIX networks และนักลงทุนรายอื่นร่วมลงทุนด้วย ด้วยเห็นโอกาสเติบโตในอนาคตจากการที่ ChomCHOB เข้ามาแก้ปัญหาใน ecosystem ของการทำโปรโมชั่นสะสมคะแนน เปลี่ยนให้การแลกคะแนนเป็นเรื่องง่ายและสะดวกมากขึ้น สำหรับลูกค้าและกลุ่มบริษัทต่าง ๆ

นายนท ชุติโสวรรณ กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง ChomCHOBกล่าวว่า จากพฤติกรรมการจับจ่ายซื้อสินค้าออนไลน์ มีจำนวนมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้ตลาด points exchange ขยายตัวมากขึ้น และเป็นโอกาสใหม่สำหรับ ChomCHOB" ด้วยบริษัทมีอัตราเติบโตมากขึ้น 3-5 เท่าตัว ในช่วง Covid-19 โดยปัจจุบันมีผู้ใช้กว่า 3 ล้านรายและมี 500,000 ร้านค้าที่เป็นพันธมิตร

ขณะที่ ในอนาคต ChomCHOB วางแผนเพิ่มจำนวนร้านค้า partner มากขึ้นเพื่อให้ครอบคลุม lifestyle ที่หลากหลายของผู้ใช้ และมีแผนขยายตลาดไปต่างประเทศ

Ricult

แพลตฟอร์ม Agri-Tech ที่ใช้เทคโนโลยี Machine Learning วิเคราะห์ข้อมูลการเกษตร ช่วยเกษตรกรบริหารจัดการฟาร์ม เพิ่มผลผลิต ขยายช่องทางจัดจำหน่าย เพิ่มรายได้

โดยในปีที่ผ่านมา Ricult สามารถระดมทุนได้ 2 ล้านดอลล่าร์สหรัฐนำโดย Bualuang Ventures และ Krungsri Finnovate นอกจากการช่วยเหลือเกษตรกรไทยด้วยเทคโนโลยีแล้ว ข้อมูลเหล่านี้ยังช่วยให้ธนาคารสามารถสนับสนุนเกษตรกรได้โดยการทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น

ขณะที่ข้อมูลจากแพลตฟอร์ม จะช่วยให้ธนาคารสามารถประเมินความเสี่ยงประกอบการตัดสินใจอนุมัติสินเชื่อได้ ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ใช้งาน Ricult กว่า 300,000 ราย โดยมีเป้าหมายเข้าถึงเกษตรกร 4 ล้านรายภายใน 3 ปี