posttoday

โควิดรอบใหม่อาละวาด ทุบดัชนีเชื่อมั่นอุตฯร่วงครั้งแรกในรอบ 8 เดือน

20 มกราคม 2564

สอท.วอนรัฐเร่งคุมโควิดรอบใหม่ หลังส่งผลดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ลดลงอยู่ที่ 85.8 เหตุกิจกรรมเศรษฐกิจหยุดชะงัก หนุนมาตรการเราชนะจ่ายเงินผ่านแอปฯดีกว่าเงินสด

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 85.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 87.4 ในเดือนพฤศจิกายน 2563 โดยค่าดัชนีฯ โดยปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 8 เดือน

ขณะที่ความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ทั้งคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลกระกอบการ โดยมีปัจจัยลบจากการระบาดระลอกใหม่ของ โควิด-19 ที่มีความรุนแรงกว่ารอบแรก และขยายวงกว้างไปในหลายจังหวัด ส่งผลให้ภาครัฐออกคำสั่งปิดสถานที่บางแห่งและกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดในจังหวัดที่มีการระบาดสูง

รวมทั้งงดจัดกิจกรรมปีใหม่และขอความร่วมมือประชาชนชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด อีกทั้ง ขอให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนและข้าราชการทำงานที่บ้าน (Work From Home) เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศชะลอลง ทั้งการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนและการเดินทางท่องเที่ยวลดลง ส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าของผู้ประกอบการลดลงโดยเฉพาะเอสเอ็มอี

นอกจากนี้การขนส่งสินค้าข้ามจังหวัดยังมีความล่าช้าเนื่องจากมาตรการที่เข้มงวดของภาครัฐ   ด้านภาคการส่งออก ผู้ประกอบการยังคงประสบปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ทำให้ส่งออกสินค้าได้น้อยลงและสูญเสียรายได้จากการส่งออก ขณะที่การแข็งค่าของเงินบาทยังเป็นปัจจัยเสี่ยงกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการส่งออก นอกจากนี้ในเดือนธันวาคมมีวันทำงานน้อย เนื่องจากมีวันหยุดในช่วงเทศกาลปีใหม่ ทำให้ภาคการผลิตลดลงจากเดือนก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม สินค้าที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์เพื่อป้องกันโควิด-19 ยังคงขยายตัวต่อเนื่องตาม อุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่การก่อสร้างโครงการภาครัฐและการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ส่งผลดีต่อสินค้าวัสดุก่อสร้าง

นายสุพันธ์  กล่าวถึง โครงการเราชนะ การจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เดือนละ 3,500 บาท ระยะเวลา 2 เดือน ว่า กรณีการจ่ายเงินแผ่นแอพพลิเคชั่น มองว่าเป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ดีกว่า  ซึ่งหากเป็นการจ่ายเงินสดก็เกรงว่า จะนำไปจ่ายอย่างอื่น เช่นจ่ายหนี้ ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการใช้เงิน   นอกจากนี้ประชาชนได้เรียนรู้จาการใช้เงินผ่านแอปฯจากโครงการคนละครึ่งมาแล้ว   เพียงแต่ครั้งนี้ เป็นการจ่ายซื้อสินค้าตามจริง 

อย่างไรก็ตามาได้จัดทำข้อเสนอแนะไปยังภาครัฐ ในการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจ ดังนี้ 1.ขอให้ภาครัฐเร่งควบคุมการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการบังคับใช้มาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวด   2. เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและประเทศคู่ค้า เกี่ยวกับความปลอดภัยในสินค้าอาหารของไทย

3.เร่งออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ทั้งผู้ประกอบการและประชาชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม เช่น มาตรการเสริมสภาพคล่องจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ(soft loan) สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

การเพิ่มวงเงินใช้จ่ายโครงการคนละครึ่ง เป็น 5,000 บาท พร้อมขยายระยะเวลาโครงการฯ และสนับสนุนให้มีโครงการคนละครึ่งเฟส 3 พร้อมขยายฐานจำนวนผู้ได้รับสิทธิ  และ4. สนับสนุนให้มีโครงการช็อปดีมีคืน ในปี 2564 เพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชนในกลุ่มที่ต้องเสียภาษี  โดยคืนภาษีจากเดิมสูงสุด 30,000 เป็น 50,000 บาท เพื่อนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของ        ปี 2564