posttoday

รัฐ-เอกชนเร่งผลิตแรงงานป้อนอุตฯหุ่นยนต์รองรับไทยแลนด์ 4.0

17 ธันวาคม 2563

กรมอาชีวฯ เดินหน้าผลิตแรงงานอุตสาหกรรมหุ่นยนต์จับมือสถานประกอบการเคาะหลักสูตรตอบโจทย์ความต้องการ คาดปี'67 ต้องการถึงปีละ2 แสนคน

นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา เปิดเผยในงานสัมมนาออนไลน์ ผู้ประกอบการแสดงสินค้า..หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม(Robotics ) หัวข้อ "อุตสาหกรรมหุ่นยนต์:โอกาส อนาคต เศรษฐกิจไทย จัดโดย กลุ่มบางกอกโพสต์ หอการค้าไทย และ สำนักงาน สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) TCEB ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปของโลกทำให้การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนเทคโนโลยีมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะการเข้าสู่สังคมสูงวัย ส่งผลให้ขาดแคลนแรงงาน ในภาวะที่ต้องมีการแข่งขันกับต่างประเทศอย่างมาก

ทั้งนี้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล ให้ความสำคัญกับการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ภาคเกษตร โลจิสติกส์ เพื่อผลักดันให้ไทยเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจไทยแลนด์ 4.0

สำหรับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เป็น 1 ในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีส่วนในการพัฒนาประเทศ โดยทางกระทรวงศึกษาธิการ ได้วางเป้าหมายในการผลิตกำลังคนเข้าสู่ตลาดแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการในภาคอุตสาหกรรม ผ่านนโยบายการศึกษายกกำลัง 2 เพื่อทำให้ระบบการศึกษาผลิตผู้เรียนเข้าสู่การพัฒนาประเทศให้เพียงพอ ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ โดยพยายามปลดล็อคหลายๆเรื่องเพื่อให้การกผลิตคนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากรมอาชีวะฯได้รับนโยบายในเรื่องดังกล่าว ซึ่งนอกจากจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้วยังต้องคำนึงผลิตผู้เรียนตอบโจทย์กับการพัฒนาประเทศในอนาคตด้วย โดยเฉพาะใน10 อุตสาหกรรมหลัก ซึ่งดำเนินการใน 3 ส่วนคือ 1. จัดการเรียนการสอน ในสาขา หุ่นยนต์ในระดับปวช. ปวส.และปริญญาตรี จาก 161 วิทยาลัย ปัจจุบันมีผู้เรียน 5,200 คน ขณะที่ความต้องการของสถานประกอบการในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ปีละ 70,000คน ในปี 2563 และจะเพิ่มเป็น 2แสนคนในปี 2567 2.กำหนดให้วิทยาลัยร่วมมือกับสถานประกอบกาชั้นนำ ในการพัฒนาหลักสูตร ทั้งกับครูและนักเรียน เพื่อผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการ เรียนจบแล้วทำงานได้ทันที

3.จัดสรรหาวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมสำหรับการฝึกนักเรียน มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ HCEC (Human Capital Excellence Cente)r ขึ้นมาเพื่อพัฒนาทักษะแรงงาน ทั้งที่เป็นแรงงานใหม่และ รองรับได้ในส่วนของคนที่ทำงานอยู่แล้วด้วย

นอกจากนี้ยังได้จัดทำโครงการพัฒนาครูอาชีวะจาก 21 วิทยามลัย คัดเลือกมา 11 แห่ง จากวิทยาลัยในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) 5 แห่ง และวิทยาลัยในภูมิภาค 6 แห่ง เพื่อส่งคุณครูสอนด้านหุ่นยนต์มาอบรม เพิ่มทักษะความรู้เพื่อกลับไปสอนนักเรียน และแรงงานในสถานประกอบการได้ด้วย

"ยอมรับว่าขณะนี้แรงงานในด้านอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ยงไม่เพียงพอ ยังมีข้อจำกัด ในเรื่องทรัพยากรการศึกษา ตลอดจนปัจจัยของการผลิตกำลังคน สิ่งที่ต้องการมากคือการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคเอกชนในเรื่องการศึกษา หรือการจัดตั้งวิทยาลัยขึ้นมาเองของสถานประกอบการนั้นๆเพื่อผลิตกำลังคนให้เพียงพอ ซึ่งในเรื่องจะพยายามลดอุปสรรคต่างๆ ให้สามารถดำเนินการได้มีศักยภาพในการผลิตกำลังคน "