posttoday

กฟผ.เดินหน้าลงทุน 1 ล้านล้าน ผุดโรงไฟฟ้าใหม่-ระบบส่ง

15 ธันวาคม 2563

“บุญญนิตย์” รับตำแหน่งผู้ว่าฯกฟผ. ลั่นยึดหลักบริหาร “ยืดหยุ่น ทันการณ์ ประสานประโยชน์ ” สร้างความมั่นคงไฟฟ้า มองหาพันธมิตรต่อยอดธุรกิจใหม่

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินงานของ กฟผ. และแนวทางการบริหารงาน หลังเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 15 ว่า  สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีส่งผลกระทบโดยตรงต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า รวมถึงรูปแบบการผลิตไฟฟ้าซึ่งถูกกำหนดโดยผู้ใช้ไฟฟ้ามากขึ้น

นอกจากนี้ในช่วง 10 ปีข้างหน้า พลังงานทดแทนจะเข้ามาแทนพลังงานจากฟอสซิลมากขึ้น  ดังนั้นกฟผ.ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมไฟฟ้าในยุค New Normal ปรับวิธีคิดและการดำเนินงานภายใต้แนวคิด “EGAT for ALL” หรือ กฟผ. เป็นของทุกคน และทำเพื่อทุกคน

ขณะเดียวกันต้องตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีความหลากหลายในยุคดิสรัปชั่น โดยตั้งเป้าเดินหน้าสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านพลังงานอย่างครบวงจร

ทั้งนั้มีแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าหลักและระบบสายส่งตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ(พีดีพี2018 ) ใช้เงินลงทุน 1 ล้านล้านบาท มีกำลังการผลิตรวม 6,150 เมกะวัตต์   และโครงการโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อน การผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมร่วมกับเซลล์เชื้อเพลิง โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ อีก 2,725 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ยังมีแผน ยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางซื้อขายพลังงานของภูมิภาค และปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าในประเทศให้มีความมั่นคงแข็งแรง โดยเฉพาะรวมถึงการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจเดิมหาพันธมิตรร่วมเป็นคู่ค้าเพื่อสร้างความหลากหลายทางธุรกิจ  เช่น การขายไฟฟ้าไปต่างประเทศเพิ่มขึ้น ธุรกิจนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)  ซึ่งมีเป้าหมายตั้งบริษัทลูกเข้าไปร่วมลงทุนในแหล่งผลิตแอลเอ็นจีต่างประเทศ 

นายบุญญนิตย์ กล่าวถึง นโยบายโรงไฟฟ้าถ่านหิน ยังมีความสำคัญต่อการกระจายเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า  และมีส่วนทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าถูกลง   แม้ยังไม่มีแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแต่ก็สามารถซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านได้  ไม่เช่นนั้นจะพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเกือบ100%  อย่างไรก็ตามเชื่อว่าเชื้อเพลิงถ่านหินไม่ได้แย่ขชนาดนั้น ขณะนี้เทคโนโลยีมีการพัฒนาไปมาก และถือเป็นพลังงานสะอาดประเภทหนึ่ง