posttoday

วินด์ เอนเนอร์ยี่ ออกหุ้นกู้3,000ล้านบาท

14 ธันวาคม 2563

วินด์ เอนเนอร์ยี่ ออกหุ้นกู้ 3,000 ล้านบาท ให้ผลตอบแทนสูงถึง 6.25%

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้นับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ ของบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด หรือ WEH มูลค่าเสนอขาย 2,000 ล้านบาท และมูลค่าหุ้นกู้สำรองอีก 1,000 ล้านบาท โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ทำหน้าที่เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และมีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ทำหน้าที่นายทะเบียนหุ้นกู้

ล่าสุด บริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ 8 แห่งเพื่อทำหน้าที่ผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้และนายหน้าค้าหลักทรัพย์ โดยผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เคพีเอ็ม จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ อาร์เอชบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ไอร่า จำกัด (มหาชน) และบริษัท หลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในส่วนของนายหน้าค้าหลักทรัพย์ คือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอเชีย เวลท์ จำกัด

หุ้นกู้ดังกล่าว อายุ 1 ปี 9 เดือน ระบุชื่อผู้ถือ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ กำหนดเสนอขายให้กับนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ (High net worth) ระยะเวลาการจองซื้อระหว่างวันที่ 17- 23 ธันวาคม 2563 กำหนดยอดจองซื้อขั้นต่ำที่ 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ยที่ 6.25% ชำระดอกเบี้ย ทุก 3 เดือน

นอกจากนี้ หุ้นกู้ดังกล่าวจัดให้มีบัญชีดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา( Escrow account) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ถือหุ้นกู้ โดยทางWEH จะจัดสรรเงินเข้าบัญชี เพื่อเตรียมชำระคืนเงินให้กับผู้ถือหุ้นกู้ทุก 7 เดือน จนครบกำหนดอายุหุ้นกู้

นายกำธร กิตติอิสรานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ กล่าวว่า การเสนอขายหุ้นกู้ในครั้งนี้ บริษัทฯ ต้องการแสดงความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย(Stakeholder) ของบริษัทฯ ได้รับทราบถึงศักยภาพในการระดมทุนของ WEH อีกทั้งขยายช่องทางการระดมทุน จากเดิมพึ่งพาเพียงวงเงินกู้จากสถาบันการเงินสำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ บริษัทฯ เตรียมจะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และเพื่อไปลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจภายในปี 2564 เพื่อรองรับการศึกษาเข้าลงทุนในโครงการใหม่ ๆ โดยไม่จำกัดโอกาสลงทุนในประเทศเท่านั้น แต่ให้ความสำคัญกับการมองหาโอกาสการลงทุนในต่างประเทศด้วย เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายธุรกิจกำหนดขยายกำลังการผลิตไฟเชิงพาณิชย์(COD) ให้แตะระดับ 1,500 เมะกวัตต์(MW) ภายใน 5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันอยู่ที่ 717 MW จากจำนวนโรงไฟฟ้า 8 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ราว 500,000 ไร่ ใน 2 จังหวัด คือ จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดชัยภูมิ