posttoday

"อิมแพ็ค" ส่องธุรกิจผ่านการจัดแสดงสินค้าฯปี64 ยังไปไหว

11 ธันวาคม 2563

"อิมแพ็ค" เผยเทรนด์ธุรกิจการจัดแสดงงานฯปีหน้า ยังต้องปรับตัวตามสถานการณ์แม้จะเริ่มมีวัคซีนก็ตาม คาด6เดือนแรกต่างชาติยังเข้ามาไทยไม่ได้มาก เชื่อปี65 ตลาดไมซ์จะฟื้นตัว 10%

นายพอลล์ กาญจนพาสน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริการธุรกิจพื้นที่การจัดงาน "อิมแพ็ค" และ ธุรกิจค้าปลีก เปิดเผยว่า ทิศทางอุตสาหกรรมการงานจัดแสดงสินค้า นิทรรศการ และการประชุมองค์กร (Meeting) การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล หรือ ไมซ์ (MICE) ในภาพรวมปี 2564 นั้นยังไปได้ต่อ แต่จะต้องปรับตัวตามสถานการณ์ อาทิ การจัดประชุม สัมมนา ในรุปแบบ "ไฮบริด มีตติ้ง" ส่วนตลาดเอ็กซิชั่นออนไลน์ ยังไม่ได้รับความนิยม ด้วยลูกค้ายังอยากที่จะสัมผัสกับสินค้าจริง มากว่า

ขณะเดียวกันในปี2564 ยังต้องติดตามปัจจัย "วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19" อย่างใกล้ชิด ด้วยมีผลให้การเดินทางติดต่อธุรกิจเป็นไปตามปกติ โดยประเมินว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปีหน้า กลุ่มลูกค้าจากต่างประเทศจะยังไม่สามารถเดินทางได้ แต่คาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเรื่อยๆ และปี 65 ธุรกิจน่าจะกลับมาเติบโตได้ 10% เทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19

ขณะที่แนวทางการดำเนินงานของอิมแพค ในปี 2564 ยังจะมีรายได้หลัก มาจากเช่าพื้นที่จัดงาน สัดส่วน 80% และด้าน อื่นๆ อาทิ ธุรกิจร้านอาหาร และลีเชอร์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ซึ่งจะยังเป็นรายได้เสริมที่มีการปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง จากการเปิดร้านอาหารเพิ่มทั้งในและนอกพื้นที่เมืองทองธานี รวมถึงบริการเคเทอริ่งที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าทั้งระดับกลางและไฮเอนด์ด้วย

นอกจากนี้ บริษัทยังวางแผนการลงทุนหลัก ภายในช่วง 3 ปี นับจากนี้ คือ 1.ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพู ซึ่งคาดว่ารัฐบาลจะได้ข้อสรุปพร้อมอนุมัติเป็นที่เรียบร้อย เพื่อให้บริษัทบีทีเอส เข้ามาลงทุนร่วม 2 สถานี เชื่อมติดกับอาคารชาเลนเจอร์ และบริเวณทะเลสาบ ภายในเมืองทองธานี โดยการลงทุนของบีแลนด์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,250 ล้านบาท

ด้านที่ 2.เป็นการลงทุนต่อเนื่อง รถไฟฟ้าสายสีชมพู โดยอิมแพ็ค โกรท รีท ดำเนินการก่อสร้างบริเวณล็อบบี้ และสะพานเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าชาเลนเจอร์ 1 เพื่อ รองรับผู้เข้าชมงาน มูลค่าราว 200 ล้านบาท

*พื้นที่ทะเลสาบที่จะเป็นสถานีรถไฟฟ้า บิ๊กเลคยังมีพื้นที่ว่างรอการพัฒนากว่า 300 ไร่ โดยมองไว้จะลงทุน เช่น ช้อปปิ้งมอล์ หรือ ไมซ์ เอ็กซิบิชั่น โดยหานักลงทุน พันธมิตรคู่ค้า อาจจะเป็นรีเทลรายใหญ่ๆ มาลงทุนไม่ใช่แบบที่ทำเองปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้พิจารณาระงับธุรกิจก่อสร้างสวนน้ำ สวนสนุก จากเดิมมีแผนร่วมธุรกิจกับพันธมิตรต่างประเทศ แต่ยังคงแนวคิดการพัฒนาธุรกิจในลักษณะ "MICE TOURIST ATTRACTION"

นายพอลล์ กล่าวว่าสำหรับภาพรวมธุรกิจอิมแพ็คในปี2563 ภายหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งได้มีการปิดศูนย์ฯ ทุกแห่งตามคำสั่งของรัฐ ตั้งแต่เดือนมีนาคม-มิถุนายน ปีนี้ และได้กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งได้เดือนกรกฎาคม ซึ่งพบว่ามีกิจกรรมงานรูปแบบต่างๆ เข้ามาจัดแสดงอย่างต่อเนื่อง ทั้งงานนิทรรศการ จากภาครัฐและเอกชน งานสอบ รวมแล้วประมาณ 7-10 งาน อาทิ Midyear sale , โฮมโปรเอ็กซโป, งานเบบี้เบ สบาย และงานใหญ่ อย่าง มอเตอร์ โชว์ ที่เลื่อนจัดงานจากมีนาคม มาเป็นช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ซึ่งแต่ละงาน บริษัทได้ดำเนินการภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19

ขณะที่ภาพรวมตลาดเอ็กซิบิชั่น ของบริษัท ในปัจจุบัน ได้กลับมามีงาน 80-90% โดยมีงานใหม่ๆ ของภาครัฐ ที่ช่วยเหลือเอสเอ็มอี และ การจัดงานด้านเกษตรกร เพิ่มขึ้น เช่น งานโอท็อป โดยในส่วนของงานที่หายไป คือ กลุ่มลูกค้าตลาดจัดเลี้ยงหรือเคเทอริ่ง และเทรดเอ็กซิบิชั่นจากต่างประเทศ

ขณะที่ ความท้าทายของ อิมแพ็ค ในปีหน้า คาดเป็นเรื่องการฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19 ตลาดต่างประเทศกลับมาใกล้เคียงปี 62 (ก่อนโควิด)และสร้างการเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 10% ในปี2565