posttoday

‘โอ๊คลิน’ ลุยธุรกิจเครื่องกำจัดขยะเศษอาหารเป็นปุ๋ย ใน 24 ชั่วโมง

19 พฤศจิกายน 2563

โอ๊คลิน ย้ำแบรนด์ธุรกิจเครื่องกำจัดขยะเศษอาหารทำเป็นปุ๋ย ผ่านงานมาราธอน บางแสน สร้างต้นแบบจังหวัดชลบุรี รักษ์โลกแบบ Zero Waste

นางณัฐกานต์ คลอวุฒิอนันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอ๊คลิน (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจเครื่องกำจัดขยะเศษอาหารเป็นปุ๋ยภายใน 24 ชั่วโมงแบรนด์ Oklin เปิดเผยว่า บริษัทในฐานะผู้ทำธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม (GREEN BUSINESS) โดยสามารถกำจัดขยะเศษอาหารจากภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม เฉลี่ยรวม 4,000-5,000 ตันต่อปี (เฉพาะในไทย) ตลอดจนแบรนด์ยังมีส่วนร่วมในการสร้างประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมต่อสังคมไทยจากการเข้าไปสนับสนุนองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน หรือหน่วยงานต่างๆ ที่มีนโยบายบูรณาการจัดการขยะอย่างยั่งยืน

ล่าสุด บริษัทได้นำ Oklin Composter เครื่องกำจัดขยะเศษอาหารโอ๊คลินมูลค่ากว่า 3 ล้านบาท ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนงาน “บางแสน 42 ชลบุรีมาราธอน 2020” เป็นปีแรก โดยผลพลอยจากกระบวนการกำจัดขยะเศษอาหารในงานฯดังกล่าว ทางแบรนด์ยังดำเนินการส่งต่อแจกจ่ายไปยังกลุ่มเกษตรกรชุมชนและกลุ่มอาชีพที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์อีกด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์การใช้งานสูงสุด ตามแนวคิด Zero Waste

นอกจากนี้ ยังมีการบริหารจัดการขยะบรรจุภัณฑ์รูปแบบอื่นๆ ในงาน เพื่อให้เทศกาลวิ่งครั้งนี้มีปริมาณขยะนำไปกำจัดลดเหลือน้อยที่สุดจนเป็นศูนย์ หรือที่เรียกว่า Zero Waste (ขยะเหลือศูนย์) อย่างแท้จริง โดยความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเมืองแสนสุขให้เป็น “เมืองท่องเที่ยวเชิงกีฬา” และ“เมืองท่องเที่ยวน่าอยู่”

ทั้งนี้ ในงาน “บางแสน 42 ชลบุรีมาราธอน 2020” ภายในเวลา 1 วัน โอ๊คลินสามารถขจัดขยะเศษอาหารได้ถึง 222.6 กิโลกรัม คิดเป็น 64% ของขยะทั้งหมดในงานนี้ จากขยะเศษอาหารจำนวนนี้ สามารถลดก๊าซมีเทนจากเศษอาหารในหลุมฝังกลบได้ 8.9 กิโลกรัม ลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นต์ ที่ทำให้โลกร้อนคิดเป็น 563 กิโลกรัม เทียบเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเครื่องยนต์ดีเซลจากรถที่วิ่งเป็นระยะทาง 10 กิโลเมตร เป็นจำนวน 399 คัน

โดยปุ๋ยที่ได้จากการแปลงขยะเศษอาหารคิดเป็น 38 กิโลกรัม ซึ่งสามารถนำไปบำรุงต้นไม้ได้ 95 ต้น (คำนวณจากการใส่ปุ๋ย 15 ช้อนชา สำหรับต้นไม้ยืนต้นสูง 3-4 เมตร ใส่ปุ๋ยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง รวม 4 ครั้ง) โดยการบำรุงต้นไม้ตลอด 1 ปี จะสามารถสร้างออกซิเจนได้ 11,210 กิโลกรัมต่อปี (ต้นไม้ 1 ต้น สร้างออกซิเจนได้ 118 กิโลกรัมต่อปี) ทั้งหมดนี้เฉพาะการขจัดขยะเศษอาหารเท่านั้น ยังรวมขยะรีไซเคิลรูปแบบอื่นๆ”