posttoday

คนไทยสายมูฯแห่พึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำเงินสะพัดกว่าหมื่นล้านบาท

08 พฤศจิกายน 2563

‘พาณิชย์’ จับตาพฤติกรรมผู้บริโภคสายมูเตลู นิยมขอพร สิ่งศักดิ์สิทธิ์-ดูหมอ พ้นภัยโควิด ชี้ สร้างรายได้กว่า1.08 หมื่นล้าน แนะท้องถิ่นต่อยอดเสริมการท่องเที่ยว บูมเศรษฐกิจประเทศได้

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่าในช่วงเดือนต.ค. 2563 สนค. ได้ทำการสำรวจการพฤติกรรมของผู้บริโภคในทุกอำเภอรวมทั้งสิ้นจำนวน 7,904 คน เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พบว่า ในการเดินทางไปทำบุญ-ขอพร สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคส่วนใหญ่ตอบว่า เท่าเดิม ร้อยละ 44.98 รองลงมา คือ ลดลง ร้อยละ 43.95 และเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 11.07 เท่านั้น ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ที่เป็นปัจจัยลบต่อการเดินทางและการท่องเที่ยว

สำหรับวัตถุประสงค์ 3 อันดับแรก ในการทำบุญไหว้พระ/สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในชีวิต (ร้อยละ 42.42) ขอโชคลาภ/เงินทอง (ร้อยละ 29.64) ขอเรื่องการงาน – ธุรกิจ (ร้อยละ 10.95) จะเห็นได้ว่าเรื่องขวัญกำลังใจ รายได้และการงาน เป็นวัตถุประสงค์หลักของการทำบุญสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน

ส่วนผลการสำรวจค่าใช้จ่ายในการทำบุญแต่ละครั้ง พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 44.72 มีค่าใช้จ่ายต่อสถานที่ โดยเฉลี่ย 100 - 200 บาท รองลงมา คือ น้อยกว่า 100 บาท ร้อยละ 24.57 ดังนั้นประชาชนกว่าร้อยละ 70 ทำบุญครั้งละไม่เกิน 200 บาท ซึ่งส่วนมากจะเป็นผู้ไม่มีงานทำ และนักเรียน/นักศึกษา ส่วนค่าใช้จ่ายที่เกินกว่า 200 บาทขึ้นไป ส่วนมากเป็นกลุ่มข้าราชการ/พนักงานรัฐ และนักธุรกิจ/เจ้าของกิจการ โดยการใช้จ่ายทำบุญส่วนใหญ่เป็นการบริจาคตู้ทำบุญ ถึงร้อยละ 47.58 รองลงมา คือ การถวายสังฆทาน ร้อยละ 39.46

นอกจากนั้น ยังได้สำรวจกิจกรรมความเชื่อที่ประชาชนส่วนใหญ่นิยม พบว่ากิจกรรมที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ การดูชะตาราศี (เช่น วัน เดือน ปีเกิด) ร้อยละ 54.13 ดูลายมือ ร้อยละ 20.94 และดูไพ่ยิปซี ร้อยละ 12.23

อย่างไรก็ดีจากผลการสำรวจในครั้งนี้ สนค. ประมาณการว่า การเดินทางไปทำบุญของประชาชนสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบได้ประมาณ 10,800 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 0.36 ต่อมูลค่าการท่องเที่ยวรวมของไทย (ปี 2562) ชี้ให้เห็นว่า กิจกรรมเหล่านี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับที่ค่อนข้างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ และมีโอกาสต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศควบคู่ไปกับภาคบริการการท่องเที่ยว ซึ่งนอกจากจะมีมูลค่าโดยรวมแล้วยังสามารถช่วยให้เกิดการกระจายรายได้เชิงพื้นที่ได้อย่างดี เนื่องจากศาสนสถานและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของไทยมีอยู่กระจายทั่วทุกจังหวัด

ดังนั้น การประชาสัมพันธ์ และการเก็บข้อมูลที่แม่นยำและต่อเนื่อง รวมทั้งการดูแลสถานที่เหล่านี้ให้คงสภาพดีและมีความสอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว จะสามารถสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจในสาขานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นด้านศาสนาและความเชื่อเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงต้องมีความระมัดระวังในการกำหนดมาตรการนโยบายให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงบริบทความเชื่อและวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น  เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและบิดเบือนข้อเท็จจริงที่อาจเกิดขึ้นได้

น.ส.พิมชนก  กล่าวว่า ความเชื่อและศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยในทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะหากเกิดปัญหาหรือเครียด คนไทยก็มักจะหันหน้าเข้าวัดหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามศาสนาของตนเพื่อขอพรและโชคลาภ ดังที่เราเห็นข่าวเรื่องการบนขอหวยและการแก้บนเพิ่มขึ้นมากในสื่อต่าง ๆ ซึ่งเชื่อว่ามีเงินสะพัดในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์จำนวนมากในหลายจังหวัด สนค. จึงได้สำรวจพฤติกรรมและความเห็นของผู้บริโภคทั่วประเทศว่า มีการใช้จ่ายในเรื่องเหล่านี้เพิ่มขึ้นหรือน้อยลง และใช้จ่ายในเรื่องใด โดยเฉพาะในช่วงที่มีปัญหาโควิด-19 แพร่กระจายอยู่