posttoday

ราคาน้ำมันโลกดิ่ง ฉุดกำไรปตท.สผ. 9 เดือนวูบ 46%

29 ตุลาคม 2563

ปตท.สผ.เกาะติดสถานการณ์โลกเตรียมแผนเชิงรุกเชิงรับ ชี้ไตรมาส 3 ราคาน้ำมันเริ่มขยับ ผลจากปลดล็อคโควิดทั่วโลก ดันกำไรสุทธิ 7,202 ล้านบาท แต่ภาพรวม 9 เดือนรายได้ยังลดลง 11%

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ( ปตท.สผ.)  เปิดเผยว่า  ผลประกอบการในไตรมาส 3 ของปี 2563 บริษัทมีรายได้รวมจากการดำเนินงาน 1,305 ล้านดอลลาร์สำหรัฐ  หรือ 40,887 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19 % เทียบกับไตรมาส 2 โดยมีปัจจัยหลักจากปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 344,317 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 5%  เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ซื้อเรียกรับก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในโครงการบงกชและโครงการคอนแทร็ค 4

สำหรับราคาขายผลิตภัณฑ์ของ ปตท.สผ. ในไตรมาส 3 นี้ เฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นกว่า 11 %มาอยู่ที่ 38.77 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้จากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ ปตท.สผ. มีกำไรสุทธิในไตรมาส 3 ที่ 230 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  หรือ 7,202 ล้านบาท สูงขึ้น 72% จากไตรมาสก่อนหน้า  โดยบริษัทยังคงสามารถรักษาระดับต้นทุนต่อหน่วยที่ 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา ที่ 71%  ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนของปี 2563 นั้น ปตท.สผ. มีรายได้รวม 4,082 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 128,369 ล้านบาท  ลดลง 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และมีกำไรสุทธิ 639 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 20,137 ล้านบาท ลดลง 46 %  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยหลักมาจากราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก 

นายพงศธร กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 ดีกว่าไตรมาสที่แล้ว เป็นผลจากความต้องการใช้น้ำมันดิบที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากการที่หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองจากไวรัส โควิด-19 และประเทศในองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออกและประเทศพันธมิตร (โอเปก พลัส) เองยังคงยืนนโยบายลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง

ด้านราคา Spot LNG(ก๊าซธรรมชาติเหลว) เองก็ปรับตัวสูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยราคาขายปลายเดือนก.ย.สูงขึ้นกว่า 5 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ส่งผลให้การนำเข้า LNG ของประเทศต่อจากนี้ไปมีแนวโน้มที่จะลดลง ซึ่งที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่ามีการเรียกรับก๊าซในอ่าวไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีกับปริมาณการขายของบริษัทในช่วงไตรมาสหลังของปี

อย่างไรก็ตาม ปตท.สผ. จะยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมพร้อมเดินหน้าแผนงานทั้งเชิงรุกและเชิงรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์

นายพงศธร กล่าวว่า  ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ปตท.สผ. ได้เริ่มเจาะหลุมประเมินผล เพื่อประเมินศักยภาพปิโตรเลียม ในแปลงซาราวัก เอสเค 410 บี ประเทศมาเลเซีย หลังจากที่ได้ทำการเจาะหลุมสำรวจในปีที่ผ่านมาและค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของ ปตท.สผ. และเป็นแหล่งที่ใหญ่อันดับ 7 ของโลกในปี 2562  ซึ่งผลการเจาะน่าจะทราบภายในปีนี้ และจะผลักดันให้สามารถตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ให้ได้ในปี 2565

นอกจากนี้ บริษัทได้ตกลงเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนในโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ  เพิ่มอีก 24.5% จาก CNOOC หนึ่งในผู้ร่วมลงทุนโครงการ ด้วยมูลค่าเท่ากับเงินลงทุนตามสัดส่วนของ CNOOC ที่ใช้ในระหว่างการพัฒนาโครงการจนถึงวันที่ได้รับการอนุมัติ ซึ่งขณะนี้กำลังรอการอนุมัติอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลแอลจีเรีย โดยหลังจากการเข้าซื้อดังกล่าว บริษัทจะมีสัดส่วนการลงทุนในโครงการฯ ทั้งหมดร้อยละ 49 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มผลิตในระยะแรกได้ที่ระดับ 10,000-13,000 บาร์เรลต่อวันในช่วงหลังของปี 2564 และจะเพิ่มการผลิตเป็น 50,000-60,000 บาร์เรลต่อวันในปี 2568

สำหรับปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยของปี 2563 ปตท.สผ. ประเมินว่าจะอยู่ที่อัตรา 350,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ลดลงเล็กน้อยจากที่มีการประเมินไว้ตอนกลางปี