posttoday

ม็อบเด็ก-เยาวชน...กระทบเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด

26 ตุลาคม 2563

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มม็อบที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยช่วง 14 ตุลาคมจนถึงขณะนี้แย่งเนื้อที่สื่อมวลชนทุกแขนงทั้งสื่อหลักและออนไลน์เนื่องจากประชาชนให้ความสนใจ ที่ผ่านมาหลายสื่อเวียนมาถามว่ากระทบเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด หากถามผมม็อบครั้งนี้หากเกิดในช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วจะกระทบเศรษฐกิจแบบ   จัง ๆ เพราะช่วงนั้นนักท่องเที่ยวต่างชาติเฉลี่ยเดือนละ 3.3 ล้านคนการลงทุนเอกชนกำลังผลักดันโครงการ EEC ตัวเลขผู้ขอส่งเสริมการลงทุนมูลค่าประมาณ 7.2 แสนล้านบาท ค้าส่ง-ค้าปลีกและการบริโภคของประชาชนยังขยายตัวร้อยละ 5.0 และร้อยละ 4.3 ตามลำดับซึ่งปีที่แล้วเศรษฐกิจไทยก็ไม่ค่อยดีเท่าใดขยายตัวได้แค่ร้อยละ 2.4 

ม็อบการเมืองบนถนนที่มาชุมนุมหลายพื้นที่ในกทม.และต่างจังหวัดเกิดในช่วงเศรษฐกิจของไทยกำลังอยู่ในขั้นวิกฤตจากพิษไวรัสของโควิด-19 ซึ่งเป็นภัยด้านสาธารณสุขเล่นงานเศรษฐกิจโลกอย่างหนักสุดทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปร้อยเปอร์เซ็นต์ ขณะที่การลงทุนของเอกชนปีนี้หดตัวอย่างน้อยร้อยละ 10-15 ค้าส่ง-ค้าปลีกติดลบประมาณร้อยละ 7.2 กล่าวได้ว่าเป็นการหดตัวด้านเศรษฐกิจรุนแรงสุดในรอบสองทศวรรษ ผลจากการมีม็อบที่หลายหมื่นคนออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยพร้อมกับชู 3 นิ้วจึงแทบไม่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างเป็นนัย ด้านการว่างงานสะสมก่อนมีม็อบประเมินว่าไม่ต่ำกว่า 2.9 ล้านคนและคาดว่าปีหน้าจำนวนจะใกล้เคียงกับปีนี้ สำหรับความกังวลกระทบนักท่องเที่ยวที่ใช้วีซ่าพิเศษ “SPV” อย่างเก่งถึงสิ้นปีจะมีถึงหมื่นคนหรือไม่ยังไม่แน่

สอดคล้องกับซีกรัฐบาลระบุว่าการชุมนุมประท้วงทางการเมืองจะไม่กระทบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังผลักดัน เช่น ชิม-ช็อป-ใช้, จ่ายคนละครึ่งและคืนเงินผ่านออนไลน์ เนื่องจากการท่องเที่ยวในประเทศส่วนใหญ่จะเป็นชายทะเลและภูเขาไม่ใช่พื้นที่ชุมนุมซึ่งอยู่ในเมืองจำนวนคนลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิ์คงจะเข้าเป้าตามที่กำหนด ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคเอกชนระบุว่าดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5  แน่นอนภาคเอกชนโดยเฉพาะพวกห้างใหญ่และตลาดหุ้นซึ่งตกใจง่ายกับเหตุการณ์เฉพาะหน้าย่อมมีความกังวลเป็นธรรมดาเพราะทุกปัจจัยจะมีผลต่อการฟื้นฟูของธุรกิจ ต้องเข้าใจว่าธุรกิจจำนวนมากกำลังประสบปัญหาสภาพคล่องมีการระบุว่าอาจมีเอสเอ็มอีหนึ่งล้านรายอยู่ในอาการโคม่าอาจต้องถึงปิดตัว

กรณีปัญหาความขัดแย้งกลายเป็นที่สนใจของสื่อต่างชาติระบุว่าเป็นการเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ของไทยในรอบหลายทศวรรษ ด้านการรับรู้และความเชื่อมั่นของต่างชาติเห็นได้จากอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ   ในตลาดต่างประเทศหรือ “Offshore” เทียบกับจากต้นเดือนตุลาคมเคลื่อนไหวอยู่ในโซนที่ยังแข็งค่าประมาณร้อยละ 1.4 แสดงว่าต่างชาติยังเชื่อมั่นว่าความวุ่นวายทางการเมืองบนท้องถนนจะไม่กระทบเศรษฐกิจมาก เหตุผลสำคัญมาจากการหดตัวดำดิ่งของเศรษฐกิจมาก่อนหน้าที่จะมีม็อบ อีกทั้งคนไทยและนักลงทุนต่างชาติมีประสบการณ์ว่าการชุมนุมประท้วงต่าง ๆ ของไทยมีมาอย่างต่อเนื่องแต่ละครั้งไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจกระทบรุนแรง

ลองมาฟื้นอดีตอย่างน้อยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีม็อบใหญ่แบบเป็นตำนานระดับโลกเริ่มจากม็อบเสื้อเหลืองปีพ.ศ.2551 ยึดทำเนียบรัฐบาลเปิดเป็นตลาดนัดและที่เดินเล่นของชาวบ้านยืดเยื้อถึง 5 เดือน ขนาดที่นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นต้องไปตั้งรัฐบาลผลัดถิ่นนอกทำเนียบการปราบปรามมีผู้เสียชีวิต 8 ราย ต่อมาในปีพ.ศ.2553 มีม็อบเสื้อแดงที่มีความรุนแรงมากที่สุดเป็นกลุ่มนปส.ปิดแยกราชประสงค์มีการเผาห้างเซ็นทรัลเวิล์ดและบุกที่ประชุม “Asean Summit” ที่พัทยาจนผู้นำประเทศอาเซียนและแขกบ้านแขกเมืองหนีกันแบบหัวชุกหัวซุนต่อมามีการปราบปรามอย่างรุนแรงเสียชีวิตถึง 87 รายบาดเจ็บหลายร้อยคน ถัดมาอีก 4 ปีเป็นม็อบ “กปปส.” ในปีพ.ศ.2556 ต่อเนื่องถึงปีพ.ศ.2557 มีคลื่นประชาชนเป็นแสนเข้ายึดหลายพื้นที่ในกทม.ยืดเยื้อกว่า 50 วันมีผู้เสียชีวิตหลายคนจนนำมาสู่การปฏิวัติ “คสช.” ได้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องจนถึงวันนี้เข้าปีที่ 7 หากไม่มีอะไรสะดุดจะอยู่ได้ยาวทำลายสถิตินายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องยาวแซงหน้าจอมพลป.พิบูลสงคราม ซึ่งตอนจบต้องลี้ภัยไปต่างประเทศและไม่ได้กลับมาอีกเลย

ความเห็นของผมระยะสั้นม็อบครั้งนี้อาจไม่กระทบเศรษฐกิจอย่างเป็นนัยเพราะบริบทต่างกันเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยถดถอยหนักสุดอยู่แล้วผลกระทบจึงไม่ชัดเจนแต่หากยืดเยื้อบานปลายก็ไม่แน่ ผมเป็นคนหนึ่งที่ออกมาเรียกร้องต่อเนื่องว่าการแก้ปัญหาอย่าใช้ความรุนแรงเด็ดขาดเพราะเหตุการณ์ในอดีตบ่งบอกว่าสถานการณ์จะซับซ้อนกว่าเดิมควรใช้เวทีรัฐสภาเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา ช่วงกลางสัปดาห์ที่แล้วนายกรัฐมนตรีออกโทรทัศน์กล่าวว่าจะใช้แนวทางการแก้ปัญหาโดยการใช้กลไกของรัฐสภาโดยมีการออกพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญระหว่างวันจันทร์ที่ 26-วันอังคารที่ 27 ตุลาคมและจะยกเลิกพรก.ฉุกเฉินเพื่อผ่าทางตันเป็นการถอยคนละก้าว ซึ่งไม่รู้ว่าจะหาทางออกได้อย่างไรหากยังใช้เป็นเวทีโต้คารมแบ่งพวกแบ่งกลุ่มกันอย่างที่เป็นอยู่คงไม่ได้อะไร การหาทางออกต้องไม่นำสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้องเพราะเป็นประเด็นความอ่อนไหวหรือจะมีเงื่อนไขไล่นายกรัฐมนตรีอย่างเดียวซึ่งท่านก็อ้างว่ามีอำนาจตามกฎหมายซึ่งจะกลายเป็นประเด็นล็อกความขัดแย้ง

การแก้รัฐธรรมนูญหากเล่นกันรายมาตราคงวุ่นวายเถียงกันไม่จบเอาว่าปัญหาความขัดแย้งอยู่ตรงที่การจำกัดอำนาจของสว.ก็ควรทำเท่านั้นแล้วควรยุบสภาให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินเลือกผู้นำประเทศ เพราะระบอบประชาธิปไตยคือการรับฟังเสียงส่วนใหญ่ซึ่งพรรคการเมืองก่อนเลือกตั้งจะไปแยกหรือจะไปรวมกันก็ไปหาเสียงแสดงจุดยืนเต็มที่ ขณะที่นักศึกษาที่อายุ 18 ปีและประชาชนก็ไปใช้สิทธิ์ส่วนเด็กที่อายุยังไม่ถึงก็ไปกล่อมผู้ปกครองว่าจะให้เลือกใครต่างก็ไปใช้สิทธิ์เลือกพรรคการเมืองที่ชูแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ตัวเองชื่นชอบและมีอุดมการณ์แนวคิดเหมือนกัน

ปัญหาเฉพาะหน้าของประเทศขณะนี้คือการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่บอบช้ำมากและหลังโควิดให้มีการลงทุนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อให้มีการจ้างงานเกี่ยวข้องกับปากท้อง หากสถานการณ์ยืดเยื้อมัวแต่ลากยาวออกไปย่อมไม่ส่งผลดีต่อประเทศชาติ ถอยกันคนละก้าว-ได้บ้าง-เสียบ้าง ที่สำคัญต้องรับฟังเสียงของประชาชน...ที่คิดเช่นนี้ชาวบ้านตัวเล็ก ๆ อย่างพวกเราก็คงทำได้เพียงเท่านี้ครับ

( สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์  www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat )