posttoday

MBK ปรับใหญ่รอบ 36 ปี วางแผนรับมือ 'คนไทย' กินเก่งขึ้น

14 ตุลาคม 2563

"เอ็มบีเค" ถอดบทเรียนค้าปลีกยุคโควิด ที่ทุกอย่างต้องกลับมานับหนึ่งใหม่ เติมงบลงทุนกว่าพันล้าน ปรับโฉมพื้นที่ทุกชั้นโฟกัสคนไทย พร้อมรอนักท่องเที่ยวต่างชาติ หวนคืนกลับทันทีน่านฟ้าเปิด คาดสถานการณ์กลับสู่ปกติปี65

ศูนย์การค้าเอ็มบีเค ห้างค้าปลีกระดับตำนานของคนไทย ก่อตั้งขึ้นในปี2527 ที่ผ่านหลากหลายมรสุมทางธุรกิจ มาร่วมกว่า 3 ทศวรรษ ล่าสุดจากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบตรงอย่างจริงจังต่อ เอ็มบีเค ครั้งใหญ่ โดยทีมผู้บริหารศูนย์ฯยอมรับว่า วิกฤตโควิดในครั้งนี้ เป็นบทเรียนครั้งสำคัญ ที่ทำให้ เอ็มบีเค ต้องขออยู่ โหมด “Pause” เพื่อทบทวนตำแหน่งทางธุรกิจใหม่ ก่อนก้าวไปต่อด้วยภาพลักษณ์ใหม่ ที่ดูสดใส พร้อมขอครองใจคนรุ่นใหม่ ให้ได้เหมือนในอดีต

MBK ปรับใหญ่รอบ 36 ปี วางแผนรับมือ 'คนไทย' กินเก่งขึ้น

บทเรียนสำคัญ เริ่มนับหนึ่งแล้วปรับโฟกัสใหม่

สมพล ตรีภพนนารถ กรรมการผู้จัดการธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์การค้า เอ็มบีเค เซ็นเตอร์ กล่าวว่า บริษัทใช้งบลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ทยอยปรับโฉมภายในศูนย์การค้าเอ็มบีเค ครั้งใหญ่ในรอบ 36 ปีภายใต้คอนเซปต์ใหม่ เพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายชาวไทย และ กลุ่มคนทำงาน คนรุ่นใหม่ ให้เดินทางมาใช้บริการในศูนย์ฯ มากขึ้น จากภาพลักษณ์ของศูนย์ฯ ที่จะมีความเด็กลง ด้วยเป้าหมายใหม่ คือ จับกลุ่มคนไทยในสัดส่วน 50% และ นักท่องเที่ยวต่างชาติ 50% จากเดิมอยู่ที่ 30% และ 70 % ตามลำดับ

“การปรับโฉมใหม่ศูนย์ฯในครั้งนี้ จริงๆแล้ว เอ็มบีเค เริ่มความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองมาตั้งแต่ปี2562 แต่จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น และเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้ เอ็มบีเค ต้องกลับมานับหนึ่งใหม่ พร้อมทบทวนตำแหน่งทางการตลาดใหม่ ที่จะหันไปเจาะกลุ่มลูกค้านักท่องเที่้ยวในประเทศมากขึ้น หลังจากที่กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปเกือบหมดในช่วงโควิดที่ผ่านมา” สมพล กล่าว

เพิ่มพื้นที่ร้านอาหารมากขึ้น ลดกลุ่มแฟชั่น-บิวตี

ทั้งนี้ เอ็มบีเค ได้เริ่มทยอยปรับโฉมพื้นที่ค้าปลีกภายในศูนย์ฯทั้ง 6 ชั้นดังนี้ คือ ชั้นG และชั้น 2เพิ่มพื้นที่ร้านอาหารแบรนด์แม่เหล็กใหม่ๆ อาทิ ป้อน สุกี้ตี๋น้อย ทู ฟาสต์ ทู อีท ฯลฯ เป็นต้น ในบริเวณโซนด้านหน้าทั้งหมดพื้นที่ราว 3,000 ตร.ม. พร้อมปรับเวลาให้มีความเหลื่อมล้ำการเปิด/ปิด เพื่อให้บริการร้านอาหารรองรับลูกค้าได้เกือบตลอด 24 ชั่วโมง อาทิ เริ่มเปิดให้บริการเช้าสุดเวลา 7.00 น. และปิดบริการดึกสุด เวลา 05.00 .น. เป็นต้น

สำหรับชั้น 3 ปรับพื้นที่ให้บริการใหม่ เป็นโซนสินค้าที่ระลึกสำหรับลูกค้าชาวต่างชาติ พร้อมร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา นำสินค้าท้องถิ่นตามภูมิศาสตร์ หรือ GI ในแต่ละภูมิภาคของประเทศ เช่น ทุเรียนป่าละอู หัวหิน และ อื่นๆ เพื่อนำมาจำหน่ายในพื้นที่ศูนย์รวมสินค้าคุณภาพดีของไทยบนพื้นที่ 500 ตร.ม. พร้อมใ้ห้บริการจัดส่งสินค้าถึงบ้าน (Delivery)

สำหรับชั้น 4  ยังวางตำแหน่งพื้นที่ค้าปลีกสำหรับโซนสินค้าไอที โทรศัพท์เคลื่อนที่ อุปกรณ์เสริม และให้บริการธนาคาร เช่นเดิม ส่วนชั้น 5 จะปรับรูปแบบเป็นพื้นที่สำหรับธุรกิจการศึกษา และ งานบริการต่างๆ เช่น ศูนย์บริการจัดทำหนังสือเดินทาง มีขนาดพื้นทื่กว่า 1,200 ตร.ม. เพื่อรองรับการใช้บริการของประชาชนทั้งในและนอกเวลาราขการ ตามเวลาศูนย์ฯ เปิด/ปิดให้บริการ จากเดิมที่บริเวณชั้น 4 เปิดพื้นที่ให้บริการสินค้าเอาท์เล็ต

และ สุดท้าย ชั้น 6 ปรับพื้นที่ใหม่เพื่อให้เป็นแหล่งรวมคนทำงานรุ่นใหม่ รูปแบบ Co-Working Space ในชื่อ “TTA” เพื่อรองรับเอสเอ็มอี หรือ สตาร์ทอัพ ทื่เริ่มต้นทำธุรกิจ และต้องการสถานที่ทำงานใจกลางเมือง โดยใช้ทุนเริ่มต้นไม่สูง   

เมื่อแล้วเสร็จ จะมีสัดส่วนร้านอาหารเพิ่มเป็น 22% จากเดิม 20% กลุ่มธนาคารอยู่ที่ 9% จากเดิมอยู่ที่ 19% กลุ่มแฟชั่น จะอยู่ที่ 15% จากเดิม 20% กลุ่มสถานเสริมความงามประเภทต่างๆ อยู่ที่ 7% เดิม 9% กลุ่มบันเทิงอยู่ที่ 7% และกลุ่มธุรกิจร้านค้าพิเศษ เช่น ร้านขายทอง ฯลฯ มีสัดส่วน 3% เป็นต้น ส่วนห้างสรรพสินค้าโตคิว ได้ต่อสัญญาเช่าพื้นที่กับทางศูนย์ฯ เป็นระยะเวลา 9 ปี

MBK ปรับใหญ่รอบ 36 ปี วางแผนรับมือ 'คนไทย' กินเก่งขึ้น

ไตรมาส 4 ค้าปลีกจะฟื้นจากผู้บริโภคสายกิน

สมพล กล่าวว่าการปรับโฉมของเอ็มบีเค ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงภายใต้วิกฤตครั้งสำคัญ ด้วยส่วนหนึ่งต้องเขย่าโครงสร้างผู้ประกอบการร้านค้าเช่าของศูนย์ฯไปพร้อมกันด้วย ที่ปัจจุบันมีผู้เช่ารวมประมาณเกือบ 900  สัญญาร้านค้า จากพื้นที่เช่าทั้งหมดรวมประมาณ 1.4 แสน ตร.ม. ซึ่งการปรับโฉมครั้งนี้จะเริ่มดำเนินการในปี2564 คาดแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2565 และยังสอดคล้องกับภาพรวมเศรษฐกิจประเทศไทย เมื่อนักท่องเทื่ยวต่างชาติกลับมาอีกครั้ง หลังจากเปิดน่านฟ้าประเทศไทย อย่างสมบูรณ์แบบ

“ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในไตรมาส 4 ปีนี้ เอ็มบีเค ประเมินว่า กำลังซื้อผู้บริโภคคนไทยยังมีอยู่แน่นอน แต่จะหันไปจับจ่ายให้กับการรับประทานอาหารทั้งในและนอกบ้านเป็นจำนวนมากขึ้น เห็นได้จากช่วงโควิดที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ พบว่าธุรกิจอาหารยังเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มสินค้าแฟชัน และ ความงาม กลับเติบโตลดลง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ เอ็มบีเค หันไปให้ความสำคัญกับการนำธุรกิจร้านอาหารมาให้บริการมากขึ้น” สมพล กล่าว

ส่งแคมเปญใหญ่ ปลุกกำลังซื้อโค้งสุดท้าย

สำหรับแนวทางการทำตลาดใน 3เดือนสุดท้ายปีนี้ เอ็มบีเค จะวางกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับสภาพการณ์ของตลาดในช่วงโควิด-19 ล่าสุดเปิดตัวแคมเปญ ช้อป ชิม โชว์ GO MBK ครบเครื่องทุกเรื่องความสุขของคนไทยที่เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ เพื่อตอกย้ำการรับรู้ในภาพลักษณ์ (Brand perception)ในฐานะ ศูนย์การค้าของคนไทยที่มีร้านค้า สินค้า บริการ และ อีเวนต์ ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของลูกค้าคนไทย เพื่อกระตุ้นตลาดในไตรมาสสุดท้าย และขยายฐานลูกค้าคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ เด็กนักเรียน นิสิตนักศึกษา และวัยทำงาน ให้เข้ามาใช้บริการในศูนย์ฯ มากขึ้น

ทั้งนี้ จากแผนดำเนินงานทั้งหมด เอ็มบีเค วางเป้าหมายเพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าคนไทยเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น 4.5 หมื่นคนต่อเดือน จากปัจจุบันมีปริมาณลูกค้าหมุนเวียนเฉลี่ย 30,000 - 40,000 คนต่อวัน จากเดิมรวมลูกค้าคนไทยและต่างชาติ อยู่ที่ประมาณ 1.2  แสนคนต่อวัน 

โดย ดวงใจ จิตต์มงคล