posttoday

“บิ๊กตู่”เรียกเชื่อมั่นลงทุนอีอีซี ตั้งโต๊ะพบ 16 นักธุรกิจรายใหญ่

30 กันยายน 2563

บีโอไอ จัดทัพนักธุรกิจ นำโดยปตท. –ปูนใหญ่-มิตซูบิชิ- ซีเนียร์ แอโรสเปซ-ดับบลิวเฮชเอ- อมตะ นั่งโต๊ะประชุมร่วมนายกฯ เรียกความเชื่อมั่น หวังเร่งเครื่องอีอีซี ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ล่าสุด 6 เดือนยอดลงทุนกว่า 8.54 หมื่นล้านบาท

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 ต.ค. 2563  บีโอไอร่วมกับสำนักงานอีอีซี (สกพอ.) จะเชิญผู้ประกอบการรายใหญ่ในพื้นที่อีอีซี จำนวน 16 ราย ในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน เครื่องจักรกล ขั้นสูง เคมีภัณฑ์ขั้นสูง โลจิสติกส์ และนิคมอุตสาหกรรม เข้าพบและประชุมร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื่องในโอกาสตรวจเยี่ยมพื้นที่ เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากนักลงทุนในพื้นที่ ณ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี

“การพัฒนาพื้นที่อีอีซี เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยบีโอไอมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนเป็นพิเศษ สำหรับพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัด เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุน ในกิจการเป้าหมาย สร้างมูลค่าเพิ่มและขีดความสามารถในการแข่งขันให้เศรษฐกิจไทย” น.ส.ดวงใจ กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อเดือนม.ค. 2563 บีโอไอได้ออกแพ็คเกจใหม่ เพื่อส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ได้แก่ พื้นที่ในจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ให้ดึงดูดการลงทุนมากยิ่งขึ้น โดยปรับสิทธิประโยชน์และเพิ่มประเภทกิจการเป้าหมายให้ครอบคลุมกว้างขึ้น ได้แก่ 1. กิจการในกลุ่มที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5-8 ปี ตามสิทธิพื้นฐานเกือบทุกประเภท (กลุ่ม A1, A2, A3) ยกเว้นกิจการบางกลุ่ม เช่น กิจการที่ไม่มีที่ตั้งสถานประกอบการชัดเจน กิจการที่มีเงื่อนไขบังคับเรื่องที่ตั้งสถานประกอบการซึ่งไม่อยู่ใน 3 จังหวัดอีอีซี เป็นต้น

2. กิจการในกลุ่มการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย ได้แก่ ไบโอเทค นาโนเทค วัสดุขั้นสูง และดิจิทัล และ 3. กิจการที่สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย เช่น กิจการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ กิจการวิจัยและพัฒนา กิจการบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

สำหรับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้มีการกำหนดเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมใน 2 ทางเลือก ได้แก่ เกณฑ์ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเกณฑ์ที่ตั้ง โดยสามารถเลือกดำเนินการทั้งสองเกณฑ์ควบคู่กันเพื่อรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสูงสุด หรือเลือกเกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่งก็ได้ โดยจะได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติที่ได้รับตั้งแต่ 1-3 ปี แล้วแต่กรณี

ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-มิ.ย.2563) การขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี มีจำนวนทั้งสิ้น 225 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เงินลงทุนรวม 85,480 ล้านบาท แบ่งเป็นจังหวัดชลบุรี จำนวน 120 โครงการ เงินลงทุน 39,990 ล้านบาท จังหวัดระยอง จำนวน 76 โครงการ เงินลงทุน 33,320 ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 29 โครงการ เงินลงทุน 12,170 ล้านบาท

รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ประกอบการ16 รายที่จะเข้าพบกับนายกรัฐมนตรี  อาทิ บริษัท ปตท. , บริษัทปูนซิเมนต์ไทย,บริษัท อมตะคอร์ปอเรชั่น , บริษัทซีเนียร์ แอโรสเปซ(ไทยแลนด์)  ,บริษัทมิตซูบิชิมอร์สเตอร์ (ประเทศไทย)  ,บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำ, บริษัทดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์  เป็นต้น