posttoday

อุตสาหกรรมไทยพ้นจุดต่ำสุดแล้วเร่งยกเครื่องเศรษฐกิจพึ่งพาในประเทศ

30 กันยายน 2563

“สุริยะ”ระบุดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนส.ค.ขยายตัว4.81% โตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 60.69 ส่งสัญญาณทยอยฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับปกติ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนส.ค. 2563 ขยายตัวจากเดือนก่อน 4.81% โดยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4  ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนส.ค.ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนอยู่ที่ระดับ 60.69 จากเดิมที่ระดับ 57.58 

อย่างไรก็ตามแม้ว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนส.ค.2563 จะยังคงหดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.34% แต่เป็นการหดตัวที่ลดลงจากเดือนก่อนที่ลดลงไป 12.93% เข้าสู่เลขหลักเดียวสะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมได้ผ่านจุดต่ำสุดและกำลังทยอยฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับปกติในช่วงก่อนหน้าสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าประเทศไทยจะไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบที่ 2

ทั้งนี้สอดคล้องกันกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ทยอยฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับปกติส่งผลให้เกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้นในบางอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอุปโภคและบริโภค เช่น อุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) หลายตัวยังคงขยายตัวดี เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมยารักษาโรคที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน การแพร่ระบาดโควิด-19 ในต่างประเทศยังคงน่าเป็นห่วงว่าจะเกิดการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 ส่งผลให้เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศชะลอตัวลง ซึ่งไทยมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจพึ่งพาต่างประเทศมากจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจและหันมาให้ความสำคัญกับการบริโภภายในประเทศมากขึ้นโดยไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีขึ้น ภาคการผลิตอุตสาหกรรมกลับมาฟื้นตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงก่อนเกิดสถานการณ์ไวรัสโควิด-19

ทางภาครัฐได้เตรียมดำเนินนโยบายกระตุ้นการบริโภคภายประเทศผ่านโครงการ คนละครึ่ง เพื่อสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในประเทศ อีกทั้งยังได้จัดงาน Job Expo Thailand 2020 เพื่อเป็นช่องทางหางานให้กับผู้ว่างงานและนักศึกษาจบใหม่

ด้านนายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมไทยค่อยๆฟื้นตัวหลังจากที่ภาครัฐมีการคลายล็อคกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทั้งหมดให้สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้ ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนส.ค.ขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 60.69 %ใกล้เคียงกับก่อนเกิดโควิด-19

อุตสาหกรรมไทยพ้นจุดต่ำสุดแล้วเร่งยกเครื่องเศรษฐกิจพึ่งพาในประเทศ

ด้านกำลังซื้อภายในประเทศที่ทยอยปรับตัวดีขึ้นสะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนส.ค.2563 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.50 %ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่3และหดตัวในอัตราที่น้อยที่สุดในรอบ 6 เดือน

ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้มีการพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศ ประกอบกับให้ความสำคัญกับการดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน

นายทองชัย กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมหลักที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมอุปโภคบริโภคเป็นหลัก อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร (หักน้ำตาล)ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน0.40% อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ขยายตัวเพิ่มขึ้น 10.50% และจากผลิตภัณฑ์ปุ๋ยเคมีที่เกษตรกรเตรียมพร้อมที่จะเพาะปลูกอีกครั้ง

ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมหลักๆได้เริ่มฟื้นกลับมาโดยเพิ่มกำลังการผลิตอีกครั้ง เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ได้เพิ่มกำลังการผลิตในเดือนสิงหาคมมาอยู่ที่ระดับ 59.81 จากระดับ 45.85 ในเดือนก่อน โดยความต้องการจากตลาดในประเทศขยายตัว 16.10 %หลังผู้ประกอบการเริ่มกลับมาเปิดสายการผลิตครบทุกค่ายรถแล้ว รวมทั้งมีการทำกิจกรรมกระตุ้นตลาดในประเทศ ประกอบรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์