posttoday

ชงครม.จ่ายค่าตอบแทน "อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน" ช่วยงานป้องกันโควิด

27 กันยายน 2563

กระทรวงเกษตรฯเตรียมเสนอ ครม. อนุมัติจ่ายค่าตอบแทนให้ "อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน" ช่วยงานป้องกันโควิด คาดจ่ายงวดแรกภายใน ต.ค.นี้

เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 63 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานอาสาสมัครเกษตรในพื้นที่ถือเป็นนโยบายหลักของกระทรวงฯ ที่ต้องดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ซึ่งที่ผ่านมาอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ได้ปฏิบัติงานจัดเก็บรวบรวม และรายงานข้อมูลพื้นฐานด้านการเกษตร ประสานงานในการถ่ายทอดความรู้และการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรในหมู่บ้าน รวมทั้งติดตามสถานการณ์การเกษตรในหมู่บ้านพร้อมรายงานเหตุการณ์ฉุกเฉินเร่งด่วนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่ง อกม.ได้ลงพื้นที่เคียงข้างไปกับเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรในการประชาสัมพันธ์ชี้แจงข้อมูลโครงการเยียวยาเกษตรกรฯ ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร เก็บรวบรวมใบสมัครนำส่งสำนักงานเกษตรอำเภอ เพื่อดำเนินการขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ส่งข้อมูลให้กระทรวงฯ จ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรด้วยความเรียบร้อย ทั่วถึง และรวดเร็ว จนสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

สำหรับการเร่งรัดดำเนินการเสนอค่าตอบแทน (ค่าป่วยการ) ให้กับ อกม.นั้น กระทรวงฯ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการดำเนินงานอาสาสมัครเกษตรเสนอค่าตอบแทน (ค่าป่วยการ) ขณะนี้ได้มีประกาศระเบียบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าด้วยการบริหารงานอาสาสมัครเกษตร เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 และได้เตรียมเสนอ ครม. เพื่อสนับสนุนค่าตอบแทน ให้กับ อกม.โดยคาดจะเร่งจ่ายเงินงวดแรกภายในเดือนตุลาคมนี้

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้ถ่ายทอดแผนการขับเคลื่อนงานไปสู่ อกม.ดังนี้ 1.ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ อกม. แลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามบทบาทหน้าที่ ในฐานะเป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ให้สามารถสนับสนุนงานส่งเสริมการเกษตรและงานตามภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

2.สนับสนุนให้ อกม.มีระบบการทำงานเป็นกลไกและมีส่วนร่วมในการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ เชื่อมโยงเครือข่าย การปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่และพัฒนาให้เป็นต้นแบบแก่เกษตรกรทั่วไป 3.การสร้างขวัญกำลังใจ สร้างการรับรู้ให้สาธารณชน พร้อมทั้งเผยแพร่ผลงานของ อกม. และยกย่องเชิดชูเกียรติในฐานะเกษตรกรผู้มีจิตอาสา ให้โอกาสในการแสดงความเป็นผู้นำและเป็นที่เชื่อถือยอมรับของเกษตรกร

นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้แก่

1.มะพร้าว มีการควบคุมดูแลเรื่องโรคระบาด และการปรับปรุงพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงและต้นทุนในการดูแลต่ำ

2.ยางพารา มีมาตรการดูแล ไม่ว่าจะเป็นการรักษาเสถียรภาพราคายาง การสนับสนุนการใช้ยางพาราในภาครัฐ เชื่อว่ามาตราการต่างๆเหล่านี้จะสามารถยกระดับราคายางพาราให้สูงขึ้น