posttoday

เทรนด์โปรตีนพืชกำลังมาแรง ส่องโอกาสส่งออกอาหารในวิกฤตโควิด

27 กันยายน 2563

ส่งออกอาหารฝ่าวิกฤตโควิดช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย 7 เดือนแรกกวาด 6.5 แสนล้าน  เร่งสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า ตอบโจทย์เทรนด์ทั่วโลก ใส่ใจเรื่องสุขภาพ ชี้โปรตีนจากพืชกำลังมา

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยในงานสัมมนาออนไลน์ ผู้ประกอบการแสดง สินค้า...อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารรองรับความปกติใหม่ (New Norm) จัดโดย กลุ่มบางกอกโพสต์ สำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ภาคกลางและภาคตะวันออก สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) หรือ TCEB และหอการค้าไทย โดยได้ร่วมเสวนาเรื่อง“อนาคตอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารไทย...ต้องไปทางนี้” ว่า อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ถือเป็นภาคธุรกิจที่สามารถพยุงตัวเองได้ในช่วงที่เกิดโควิด-19 แม้บางเดือนการส่งออกจะบวกไม่ถึง 1% ก็ตาม แต่ถือว่าตัวเลขไม่ได้ลดลงเหมือนสินค้าหมวดอื่นๆ

ส่งออกอาหารเติบโตรับยุคโควิด

ทั้งนี้สินค้าของอาหารยังไปได้ดี โดยเฉพาะในหมวดของอาหารแปรรูปในช่วงที่เกิดล็อคดาวน์ ทุกคนอยู่บ้าน  โดยตั้งแต่เดือนมี.ค.-พ.ค.  ยอดสินค้าอาหารขยายตัวมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมีการซื้อตุนไว้เป็นเสบียง  

เมื่อมองภาพรวม 7 เดือนแรกของปี การส่งออกอาหารขยายตัว 0.78 % มูลค่า 6.5 แสนล้านบาท ถ้าพิจารณาเป็นรายสินค้าที่การส่งออกขยายตัวได้แก่ ส่งออกไก่สดแช่แข็ง  ขยายตัวถึง 25.5% เนื่องจากก่อนหน้านี้ประเทศในโซนเอเชีย เกิดการแพร่ระบาดอหิวาหมู โดยเฉพาะในจีน ทำให้ตลาดมีความต้องการหาโปรตีนอื่นไปทดแทน

ขณะที่อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัว 16 % เป็นผลจากช่วงล็อคดาวน์ มีหลายบ้านที่เลี้ยงสัตว์ และมีโอกาสได้ดูแลอย่างใกล้ชิด ด้านอาหารทะเลกระป๋องแปรรูป ปลากระป๋อง ขยายตัว 4.3% ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง 15.2%  โดยเฉพาะทุเรียน และ สิ่งปรุงรสอาหาร ซอสเครื่องปรุงต่างๆโต 5.6%

ส่วนการส่งออกอาหารหมวดที่ลดลงคือ เครื่องดื่มลดลง 7.6% ข้าวลดลง 14.2%  น้ำตาล ลดลง 15.7% กุ้งสดแช่แข็ง ลดลง 3.6 %  จากมาตรการต่างๆ แต่ก็มีบางชนิดที่มีเครื่องดื่มใสที่ใส่วิตามิน โตถึง 10-20% ซึ่งสวนทาง น้ำตาล ลดลงไป20% เนื่องจากราคาตลาดโลกลดลง ภัยแล้ง กำลังการผลิตหาย ข้าวลดลง 14.2% กุ้งสดแช่เย็น

มุ่ง Food  Safety Plus ตามเทรนด์โลก

อย่างไรก็ตามการปรับตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารเพื่อตอบโจทย์หลังเกิดโควิด-19 นั้น ต้องให้ความสำคัญในเรื่อง Food  Safety Plus การสร้างคุณภาพและมาตรฐานสินค้า เพราะส่วนหนึ่งที่อาหารไทยส่งออกไปได้ทั่วโลก เนื่องจากเป็นประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ ไม่มีการติดเชื้อ รวมทั้งการเพิ่มมาตรฐานการดูแลพนักงาน ป้องกันโควิด 

นอกจากนี้ต้องเพิ่มมูลค่าสินค้าอาหารที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพ เจาะกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันไป เช่น โปรตีนทดแทนเนื้อสัตว์ โปรตีนจากแมลง ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ในอนาคต อาหารที่ทำให้ระบบขับถ่ายดี อาหารที่ปราศจากน้ำตาล หรือโซเดียม อาหารที่ปราศจากเคมี 

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหาร คือการเจรจาการค้าให้มีความต่อเนื่อง  การลดปัญหาอุปสรรคการค้าต่างๆตลอดจน  การผลักดันภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร สู่การพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการเพื่อสร้างจุดแข็งให้กับอุตสาหกรรม ทั้งการพัฒนาสายพันธุ์พืชให้มีผลผลิตที่ดี    

ออกงานแฟร์แพลตฟอร์มสำคัญสร้างแบรนด์สินค้า

ด้านนายภูษิต ศศิธรานนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็กซ์โปลิงคก์ โกลบอล เน็ทเวอร์ค จำกัด (ENG) กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารยังมีการเติบโต โดยเฉพาะสินค้าแปรรูป ซึ่งการจัดงานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX – ANUGA ASIA 2020 “The Hybrid Edition” ในปีนี้ เทรนด์อาหาร ตอบโจทย์เรื่องสังคมเมือง สุขภาพ ซุปเปอร์ฟูด ทานอาหารเท่าเดิมแต่คุณค่าอาหารมากขึ้น อะไรที่ไม่ดีต่อสุขภาพ คาร์โบไฮเดรต ไขมัน ก็มีใช้นวัตกรรมให้สอดคล้องกับทิศทางโลก ซึ่งขณะนี้เทรนด์โปรตีนที่ผลิตจากพืชกำลังเป็นที่น่าสนใจของตลาดโลก 

การจัดงานแสดงสินค้าถือเป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการเปิดตัวสินค้า  สร้างจุดเด่น  สร้างความไว้วางใจสินค้าในระดับนานาชาติ เพราะการเติบโตต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการสร้างแบรนด์สินค้า ใช้แพลตฟอร์มทำมาร์เก็ตติ้ง

สำหรับการจัดงาน THAIFEX ในปีนี้ แม้ต้องเผชิญกับปัญหาโควิด จนต้องลดจำนวนพื้นที่การจัดงาน จากเดิม 1 แสนตารางเมตร(ตร.ม.) เหลือเพียง 60,000 ตร.ม. เพราะผู้ประกอบต่างชาติมาไม่ได้ แต่พื้นที่ทั้งหมดก็อยู่ได้ด้วยอุตสาหกรรมอาหารของคนไทย

อย่างไรก็ตามสิ่งที่อยากให้รัฐบาลคือ การให้ข้อมูลข่าวสารระดับต่างประเทศ กรอบการเจรจาการค้าต่างๆ  ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีควาจำเป็นต้อง  เรามีหน่วยงานที่สนับสนุนผู้ประกอบการมาก แต่การกลุ่มเอสเอ็มอียังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล หรือแหล่งเงินได้  ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็ต้องรวมกลุ่มกัน  ซึ่งเดิมเคยมีรูปแบบคลัสเตอร์ แต่ปัจจุบันหายไป

โควิดคือโอกาสอาหารไทยในต่างแดน

นายแดน   ปฐมวาณิชย์    ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บริษัท เอ็นอาร์  อินแสตนท์  โปรดิวซ์   จำกัด (มหาชน)    กล่าวถึง อาหารไทยได้รับความนิยม ส่วนหนึ่งมาจากการท่องเที่ยวในไทย ติดใจรสชาติ  หรือที่เรียกว่า Ethnic  Food  อย่างที่ประเทศอังกฤษ  มูลค่าของ Ethnic  Food มากถึงพันล้านเหรียญ  ดังนั้นใครอยากส่งออกอาหารไปต่างประเทศต้องเข้าใจว่าคู่แข่งไม่ใช่เฉพาะคนไทย แต่คือผู้ประกอบการในประเทศนั้นๆด้วย

ทั้งนี้สถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นเชื่อว่าจะเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมอาหารในอีก 5 ปีข้างหน้า เพราะปัจจุบันอาหารไทยสร้างความตื่นเต้นในโมเดิร์นเทรดต่างประเทศ  ซุปเปอร์มาร์เก็ตในยุโรปหรือสหรัฐ  จะต้องมีอาหารไทย ทั้งในรูปแบบแช่แข็ง Ready  to Eat  ทำอย่างให้อาหารสตรีทฟู้ดมาอยู่ในรูปแบบอาหาสำเร็จรูป

“ตอนนี้อยากให้รัฐมีงบสนับสนุนการออกงานแฟร์ สิ่งที่ควรทำคือการโปรโมทสินค้าไทย หรือการจ้างล็อบบี้ยีสต์ ไว้คอยปกป้องปัญหาอุปสรรคต่างของสินค้าไทย”

เพิ่มมูลค่าแปรรูปข้าวไทย หล่อเลี้ยงประเทศ

นางกรชวัล สมภักดี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กอระ เอ็นเตอร์ไพร์ซ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่้โลก เป็นโอกาสของการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป โดยเฉพาะในกลุ่ม ข้าวอินทรีย์ (ออร์กานิค) เพื่อสุขภาพ ที่จะยังเป็นภาคเศรษฐกิจที่หล่อเลี้ยงประเทศไทยอีกด้วย จากแนวโน้มที่มองเห็น คือ ไทยจะต้องเป็นนักจัดการข้าว ด้วยกลุ่มข้าวอินทรีย์ มีขนาดตลาดที่ใหญ่มาก รวมถึงกลุ่มตระกูลข้าวสี ต่างๆ เช่น ไรซ์เบอร์รี่ หอมมะลิแดง ฯลฯ เป็รนอีกหนึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ข้าวที่น่าสนใจในตลาด ที่สามารถสร้างเม็ดเงินได้ทั้งในประเทศและตลาดโลก

ขณะที่ทิศทางตลาดข้าวแปรรูปของไทยในตลาดโลก พบว่า มีผลิตภัณฑ์ข้าวแปรรูปที่ผลิตจากไทยและนำไปตีตราค้าสินค้าในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ และ นำกลับมาทำตลาดในช่องทางห้างค้าปลีกระดับบนของไทย เป็นจำนวนมาก ขณะที่วัตถุดิบแปรรูปจากข้าวในประเทศไทยมีความต้องการในรูปแบบแป้งมากกว่าการแปรรูปในด้่านอื่น ซึ่งในส่วนของ บริษัทกอระ ถือเป็นบริษัทที่มุ่งเน้นงานวิจัยนวัตกรรมิเพื่อการแปรรูปข้าวส่วนต่างๆ อาทิ ปลายข้าว จมูกข้่าว เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าในการทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ และได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี

สำหรับผู้อ่านที่สนใจรายละเอียดข้อมูลในงานสัมมนา หัวข้อ “โอกาสอุตสาหกรรมธุรกิจแปรรูปอาหารประเทศไทย ใน ครัวโลกแห่งอนาคต” เพิ่มเติมสามารถเข้ารับชมได้ผ่านลิงค์ https://www.facebook.com/Posttoday/videos/359655112084172