posttoday

เอกชนทุ่มเงินลงทุน 5 พันล้านตั้งโรงงานถุงมือยางในนิคมฯยางพารา

27 กันยายน 2563

สิงหเสนี กรุ๊ป-แอทยีนส์ ลงนามเช่าที่ดินในนิคมฯยางพารา จ.สงขลา เดินหน้าตั้งโรงงานถุงมือยาง ลงทุนกว่า 5 พันล้านบาท และรองรับผลผลิตยางภาคใต้กว่า 40,000 ตันต่อปี

น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ได้ลงนามในสัญญาเช่าที่ดิน กับบริษัท สิงหเสนี กรุ๊ป จำกัด ซึ่งร่วมทุนกับบริษัท แอทยีนส์ โกลบอล ลิงค์ จำกัด ในพื้นที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา ในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้.ตฉลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เนื้อที่ประมาณ 83 ไร่ มีระยะเวลาเช่า 20 ปี  เพื่อประกอบกิจการโรงงานผลิตถุงมือยางจากน้ำยางธรรมชาติซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์ทางการแพทย์

ทั้งนี้จะใช้น้ำยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบหลักประมาณ 3,600 ตันต่อเดือน หรือประมาณ 43,200 ตันต่อปี ในพื้นที่จังหวัดสงขลา และจังหวัดใกล้เคียง เป็นการตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และช่วยยกระดับผลผลิตยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้นโดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดดำเนินการได้ในช่วงเดือนเม.ย. 2564

สำหรับการลงนามในสัญญาเช่าครั้งนี้ นอกจากจะผลิตถุงมือยางแล้ว บริษัทฯยังมีการจัดตั้งศูนย์การทดสอบและรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ถุงมือยางซึ่งเป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการวิจัยยางธรรมชาติโปรตีนต่ำ เพื่อนำไปผลิตถุงมือยางธรรมชาติที่มีคุณสมบัติพิเศษในการเป็นถุงมือยางที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการวิจัยโครงการนี้เป็นเวลา 1 ปี จากนั้นศูนย์ฯจะนำผลการวิจัยและนวัตกรรมที่ได้ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพาราเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงและเพิ่มมูลค่าของสินค้าและสามารถเป็นสินค้าส่งออกที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในตลาดสากล

อย่างไรก็ตามโรงงานแห่งนี้เป็นโรงงานผลิตถุงมือยาง ตั้งอยู่ในเขตประกอบการทั่วไป พื้นที่ประมาณ 83 ไร่ มูลค่าการลงทุนประมาณ 5,998 ล้านบาท มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในพื้นที่ประมาณ 2,000 คน ซึ่งตอบโจทย์รัฐบาลทั้งด้านการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่ใช้ยางพารามีความแข็งแกร่งและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ยางจากกลางน้ำสู่ปลายน้ำและนโยบายส่งเสริมการจ้างแรงงานหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย โดยโรงงานแห่งนี้จะใช้น้ำยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตสินค้า ซึ่งจะเป็นการเพิ่มอุปสงค์ (Demand) การใช้น้ำยางพาราจากเกษตรกรในพื้นที่และในประเทศเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในประเทศไทย รวมทั้งเกิดการสร้างแรงงานท้องถิ่นอีกด้วย