posttoday

ชงรัฐแก้วิกฤตต้นทุนโลจิสติกส์ คาดส่งออกปีนี้ติดลบ10%

08 กันยายน 2563

สรท.จี้รัฐต้องเอาจริงแก้ปัญหาต้นทุนโลจิสติกส์พุ่ง หวังบรรเทาผลกระทบผู้ส่งออก-นำเข้า ขณะที่ภาพรวมส่งออก 7 เดือนแรกยังติดลบ 7.7% จากพิษโควิด-เศรษฐกิจโลก-บาทแข็ง

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้านโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าที่ปรับสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อการแข่งขันของผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้าสินค้าระหว่างประเทศ  โดยจะนำเรื่องดังกล่าวหารือในการประชุมคณะกรรมการร่วมเอกชน3 สถาบันได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย  ในวันที่ 9 ก.ย.นี้

ทั้งนี้สิ่งที่ต้องการให้แก้ไข เช่น ปรับความสูงของรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์สำหรับบรรจุสิ่งของขนาด High Cube (HC)  และรถบรรทุกรถยนต์ ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 18 เป็น 4.6 เมตร   การเลื่อนบังคับใช้ประกาศการท่าเรือฯ เรื่องกำหนดอัตราค่าภาระของเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ  A) ท่าเรือแหลมฉบังและ ประกาศการท่าเรือฯ เรื่องให้เรือชายฝั่งที่รับตู้สินค้าขาเข้าที่ท่าเรือแหลมฉบังดำเนินการ บรรทุกตู้สินค้าลงเรือ (Loading Container) ณ ท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) และกำหนดนโยบายลดต้นทุนการขนส่งชายฝั่งให้สามารถแข่งขันกับการขนส่งรูปแบบอื่น

นอกจากนี้ขอให้พิจารณายกเว้นการเรียกเก็บค่า Cargo Dues สำหรับเรือ Barge ที่ขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ขาเข้า ระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง ผ่านร่องน้ำสันดอนเจ้าพระยาเข้าไปขนถ่าย หรือส่งมอบ ณ ท่าเรือเอกชน หรือท่าเรืออนุญาตที่ตั้งอยู่ในบริเวณอาณาเขตท่าเรือกรุงเทพ  ขณะเดียวกันขอให้เร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งภายใต้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำหรับยกระดับประสิทธิภาพโลจิสติกส์

สำหรับสถานการณ์การส่งออก เดือนก.ค. 2563 มีมูลค่า 18,819 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 11.37% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 15,476 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ลดลง 26.38 % ส่งผลให้เกินดุลการค้า 3,343 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (การส่งออกเมื่อหักทองคำ น้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย การส่งออกติดลบ12.97%)  โดยภาพรวมช่วง 7 เดือนแรก ของปีนี้ ไทยส่งออกรวมมูลค่า 133,162 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 7.72% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน   ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 119,118 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 14.69 %  เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า 14,044 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

อย่างไรก็ตามคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2563  ติดลบ 10% โดยยังมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ สถานการณ์การระบาดโควิด-19  ทิศทางการนำเข้าหดตัวลง แต่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการส่งออก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการผลิตและส่งออกโดยใช้วัตถุดิบและสินค้าที่มีอยู่เดิม ประกอบกับความเชื่อมั่นในตลาดโลกที่ยังไม่ดีนัก 

นอกจากนี้ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในทิศทางที่แข็งค่า จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐที่ยังคงมีแนวโน้มตึงเครียดในหลายประเด็นต่อเนื่อ ด้านระดับราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ระดับต่ำกว่าปี 2562 มากกว่าร้อยละ 30