posttoday

ส่อง 5 พฤติกรรมผู้บริโภคผลไม้ในสิงคโปร์

21 สิงหาคม 2563

สิงคโปร์เป็นประเทศที่อยู่ไม่ไกลจากประเทศไทย ผู้คนเดินทางไปมาหาสู่กันทั้งเรื่องธุรกิจและท่องเที่ยว

หากไม่นับเรื่องสถานการณ์โควิด-19 (COVID-19) แล้วประเทศไทยถือเป็นคู่ค้ากับสิงคโปร์ในเรื่องผลไม้มาอย่างยาวนาน

แม้ว่าตลาดผลไม้ในสิงคโปร์มีการแข่งขันสูงเพราะผู้บริโภคในสิงคโปร์ มีกำลังซื้อสูงและนิยมเลือกซื้อสินค้าผลไม้ที่มีคุณภาพ คุ้มค่ากับราคา

โดยเฉพาะผลไม้จากเมืองหนาวและญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก รองลงมาเป็นผลไม้เมืองร้อนและผลไม้ตามฤดูกาลรวมถึงผลไม้สดและแช่แข็งจากไทยที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในสิงคโปร์ด้วยเช่นกัน

โดย มะม่วง ฝรั่ง ทุเรียน ลำไย และมังคุด ยังคงเป็นผลไม้แนวหน้าที่ชนะใจผู้บริโภคในทุกฤดูกาล

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ได้วิเคราะห์ 5 พฤติกรรมผู้บริโภคผลไม้ในตลาดสิงคโปร์ไว้ดังนี้

  • การนำเข้าผลไม้ในสิงคโปร์ไม่ใช่เพียงแต่นำเข้าเพื่อการบริโภคในประเทศเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการนำเข้าเพื่อการส่งออกต่อ (re-export) ไปยังอินโดนีเซียและบรูไนด้วย

      จากตัวเลขการส่งออกเดือนมกราคม -เมษายน 2563 พบว่าเฉพาะผลไม้สดมีการส่งออกไปสิงคโปร์เพิ่มสูงขึ้นถึง 10.24%

  • กระแสผลไม้ออร์แกนิคและผลไม้เกษตรอินทรีย์ในสิงคโปร์มีการขยายตัวขึ้นต่อเนื่อง เพราะผู้คนให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น

      เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยจึงต้องให้ความสำคัญกับการรักษามาตรฐานให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และพัฒนาคุณภาพการ            ผลิตตามความต้องการของตลาด

  • ชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่นิยมซื้อสินค้าผลไม้ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตมากกว่าตลาดสด เพราะสะดวกสบาย ชาวสิงคโปร์ส่วนมากต้องทำงานในช่วงเวลา 8.00-18.00 น.

      ดังนั้น การส่งเสริมการขายสินค้าผลไม้ผ่านทางซูเปอร์มาร์เก็ตสิงคโปร์ จะเป็นการประชาสัมพันธ์ได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย

  • ความต้องการในการบริโภคสินค้าผลไม้แบบแช่เย็น/แช่แข็งมากขึ้น ด้วยระยะเวลาในการเก็บรักษาที่นานขึ้นและการซื้อได้อย่างสะดวกทั้งช่องทางออนไลน์และซูเปอร์มาร์เก็ต
  • ผู้บริโภคมีโอกาสเลือกผลไม้ที่มาจากหลายแหล่ง ซึ่งไทยเองมีคู่แข่งสำคัญของผลไม้ประเภทเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เมียนมา เป็นต้น

ดังนั้น ไทยมีโอกาสเสียเปรียบในการแข่งขันด้านราคา

นอกจาก 5 พฤติกรรมผู้บริโภคข้างต้นแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิด New Normal ของผู้บริโภคด้วยเช่นกัน

ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น หรือ การเติบโตเพิ่มขึ้นของ Contactless payment ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ส่งออกผลไม้สด ผลไม้แช่แข็ง และผลไม้แปรรูปจากไทยไม่ควรมองข้าม

ควรวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันและเลือกช่องทางจัดจำหน่ายให้เหมาะสม เพื่อตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในยุคโควิด-19 ด้วย