posttoday

ส่งออกกู่ไม่กลับคาดปีนี้ติดลบ 10 % กระทุ้งรัฐเพิ่มมาตรการเสริมสภาพคล่อง

04 สิงหาคม 2563

ส่งออกไทยยังน่าเป็นห่วงเดือนมิ.ย.ติดลบ 23 % คาดปีนี้ติดลบหนักสุด 10% วอนรัฐเร่งหาเครื่องมืออุ้มผู้ประกอบการขาดสภาพคล่อง หวังผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ดูแลค่าเงินบาทที่เหมาะสม

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การส่งออกเดือนมิ.ย. มีมูลค่า 16,444 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 23.17% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ ล้านบาท 520,608 ลดลง 23.06% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 14,833 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 18.05 % และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 475,986 ล้านบาท ลดลง 17.94% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า 1,610 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับภาพรวม 6 เดือนแรก (ม.ค.- มิ.ย.) ไทยส่งออกรวมมูลค่า 114,342 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 7.09% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 103,642 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 12.62 %

ทั้งนี้การส่งออกเดือนมิ.ย.กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ยังติดลบ 9.9% โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดีอยู่ คือ ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง แต่สินค้ากลุ่มที่หดตัวคือ ข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย

ด้านกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ลดลง 25% กลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัว ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ขณะที่สินค้ากลุ่มที่หดตัว อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ

อย่างไรก็ตามสรท. คาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2563 จะติดลบ 10% บนสมมติฐานค่าเงิน 31.5 (+-0.5) บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ 1. การส่งออกในกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการ work from home ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ สินค้าเกษตรแปรรูปและอาหารผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป และอาหารกระป๋องและแปรรูป เนื่องด้วยความกังวลในสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ประชาชนมีอุปสงค์ในการสำรองสินค้าอาหารเพื่อดำรงชีพในช่วงการ lockdown รวมถึงอาหารสัตว์เลี้ยง และสินค้าเฟอร์นิเจอร์เพื่อการตกแต่งบ้าน และ 2. ความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด–19 โดยเอกชนมีความคาดหวังว่าจะสามารถพัฒนาวัคซีนจะพร้อมใช้งานได้เร็วที่สุด เพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจกลับมาสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ 1. ผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกที่ยังคงมีความรุนแรง โดยเฉพาะสหรัฐที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงโอกาสกลับมาระบาดรอบใหม่ในหลายประเทศ อาทิ จีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศ เป็นต้น ทำให้หลายประเทศยังคงต้องดำเนินมาตรการ Lockdown ต่อเนื่อง อีกทั้งเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ซึ่งกระทบต่อกำลังซื้อของประเทศต่างๆทั่วโลก

2. สถานการณ์ขัดแย้งระหว่างประเทศ ทั้งสหรัฐและจีน มีการประกาศนโยบายตอบโต้ระหว่างกัน อาทิ การปิดสถานกงสุล (โดยสหรัฐฯ สั่งปิดสถานกงสุลจีนในเมืองฮิวสตัน รัฐเท็กซัส ขณะที่จีนโต้ตอบด้วยการปิดสถานกงสุลประจำนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน) รวมถึงการประกาศมาตรการคว่ำบาตรบุคลากรระดับสูงเพื่อตอบโต้ระหว่าง 2 ชาติ ขณะที่จีนและสหราชอาณาจักร โดยสหราชอาณาจักรประกาศห้ามการใช้อุปกรณ์ของบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี ในเครือข่ายโทรศัพท์มือถือระบบ 5G ของอังกฤษและมีคำสั่งระงับสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับฮ่องกง จากการที่ก่อนหน้ารัฐบาลอังกฤษได้เปิดตัวข้อเสนอในการให้สิทธิพิเศษแก่ชาวฮ่องกงที่ถือพาสปอร์ตแบบ British National Oversea

3.ราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับต่ำกว่าปี 2562 จากปัจจัยด้านอุปสงค์ที่ถูกกดดันโดยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีความรุนแรงในหลายประเทศ ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังสินค้ากลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ กลุ่มพลาสติก เคมีภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูปที่มีสัดส่วนต่อการส่งออกรวมถึงร้อยละ 12 ให้มีทิศทางการส่งออกที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง 4. ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงแต่ยังต่ำกว่าความคาดหวังของผู้ประกอบการส่งออกที่ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 5. การขาดสภาพคล่องการเงินของผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจ

ทั้งนี้ได้จัดทำข้อเสนอแนะไปถึงรัฐบาล ได้แก่1. การเร่งรัดการดำเนินมาตรการเยียวยาด้านการเงินสำหรับเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด และเสนอให้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ต้องเข้ามาเพิ่มการค้ำประกันให้กับการกู้เงินของภาคเอกชนจากธนาคารพาณิชย์ เป็นรายบริษัท ทั้งนี้ ต้องสนับสนุนเงินทุนเพิ่มเติมให้กับ บสย. เพื่อให้มีวงเงินที่เพียงพอ

2.ขอให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คนใหม่ เข้าใจความเดือดร้อนของภาคธุรกิจ และมุ่งดำเนินการให้สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง อาทิ รักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทให้อยู่ระดับ 34 บาท/เหรียญสหรัฐฯ และผ่อนปรนนโยบายการปล่อยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ (Soft loan) และขอให้มีการขยายอายุของ พรก.เงินกู้ฯ ให้เป็น 5 ปี

3.การให้ความสำคัญกับระบบการบริหารจัดการน้ำและระบบชลประทานให้มากขึ้น ทั้งจากภัยแล้งและปัญหาน้ำท่วมเฉียบพลัน เพื่อรักษาปริมาณผลผลิตสำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร 4.ด้านกฎระเบียบโลจิสติกส์และการค้าระหว่างประเทศ ควรเร่งแก้ไขกฎระเบียบซึ่งล้าสมัย