posttoday

ยอดใช้น้ำมันทำสถิติ ร่วงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

29 กรกฎาคม 2563

คนไทยใช้น้ำมันลดลงหลังเจอโควิด ปีนี้คาดติดลบ 8.7% ต่ำสุดไม่เคยเกิดมาก่อน จากพิษโควิด โดยเฉพาะน้ำมันเครื่องบินหนักสุดติดลบ 43.5% ลุ้นครึ่งหลังของปีเศรษฐกิจฟื้นตัว

น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า แนวโน้มการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปี 2563 เฉลี่ยอยู่ที่ 143.59 ล้านลิตรต่อวันลดลง 8.7 % เมื่อเทียบกับปีก่อน ถือเป็นสถิติการใช้น้ำมันที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีสาเหตุหลักมาจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนต้องออกมาตรการล็อคดาวน์ ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัว

ทั้งนี้ในช่วง 6 เดือนแรกของปี(ม.ค.-มิ.ย.) ภาพรวมการใช้น้ำมันลดลงไป 13.8% โดยกลุ่มเบนซิน ลดลง 7.6 % กลุ่มดีเซล ลดลง 4.9 %  ขณะที่น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) ลดลง 49.5 % เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 9.9 ล้านลิตร/วัน  เนื่องจากประกาศห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ไปจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.63

ด้านการใช้ก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี)เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 15.0 ล้านก.ก./วัน ลดลง 16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการใช้ภาคขนส่งลดลงมากที่สุด มีการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 2 ล้านก.ก./วัน  ลดลง 30.6 % รองลงมาเป็นภาคปิโตรเคมี มีการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 6 ล้านก.ก./วัน ลดลง19.3 %  ถัดมาเป็นภาคอุตสาหกรรมมีการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.6 ล้านก.ก./วัน ลดลง10.4 % และภาคครัวเรือนมีการใช้ลดลงน้อยที่สุดเฉลี่ยอยู่ที่ 5.4 ล้านก.ก./วัน ลดลง 6.4 %

การใช้เอ็นจีวี เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 4 ล้านก.ก./วัน ลดลง 28.4% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากยังคงอยู่ในช่วงโควิด-19 ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการใช้ดีเซลหมุนเร็ว บี20 สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการรถโดยสารหันไปใช้ดีเซลหมุนเร็วบี 20 ทดแทน  อีกทั้งยังมีนโยบายการปรับราคาขายปลีกเอ็นจีวีสำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลทั่วไปเพื่อสะท้อนต้นทุน จึงทำให้ราคาเอ็นจีวีปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคหันไปใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์หรือน้ำมันดีเซลหมุนเร็วแทน

“การใช้น้ำมันของไทยลดลงมากจากผลกระทบโควิดโดยเฉพาะในช่วงเดือนมี.ค.-พ.ค. แต่คาหวังช่วงครึ่งปีหลัง เมื่อมีการคลายล็อคมาตรการต่างๆ จะทำให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้นได้  ซึ่งเดิมเคยมองการใช้น้ำมันปีนี้จะโต 2-3 % แต่เมื่อเจอกับโควิด ต้องปรับตัวเลขคาดการณ์ใหม่ เป็นติดลบ 8.7%”น.ส.นันธิกา กล่าว