posttoday

จับตาโรงไฟฟ้าชุมชน โจทย์ใหญ่เก้าอี้รมว.พลังงานคนใหม่

28 กรกฎาคม 2563

ทีมเศรษฐกิจภาครัฐ

ถ้าไม่มีอะไรพลิกโผ อีกไม่เกิน1-2 สัปดาห์ คงได้เห็นชื่อ "สุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาวน์" เป็นรัฐมนตรีพลังงาน คนที่ 14 ต่อจากนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่ได้ลาออกจากกระแสกดดันในเกมการเมือง

สำหรับ "สุพัฒน์พงษ์" ถือเป็นบุคคลากรสายตรงจากกลุ่มบริษัทปตท. ซึ่งแทบทุกครั้งที่มีการสรรหารมว.พลังงานคนใหม่ จะต้องมีรายชื่อของผู้บริหารจากกลุ่มปตท.เป็นแคนดิเดตมาโดยตลอด และถ้ามองย้อนตำแหน่งรัฐมนตรีพลังงานในอดีต ก็เป็นอดีตผู้บริหารจากกลุ่ม ปตท.มาแล้ว 3 คน คือ นายวิเศษ จูภิบาล , นายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายศิริ จิรพงษ์พันธ์ และหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง "สุพัฒน์พงษ์"จะเป็นรมว.พลังงานคนที่ 4 ที่มาจากกลุ่มปตท.

กระทรวงพลังงานถือเป็นกระทรวงเกรดเอ จึงเป็นที่หมายปองของบรรดานักการเมืองที่ต้องการเข้ามาชิงตำแหน่งนี้ เนื่องจากเรื่องของพลังงานมีส่วนสำคัญในการช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนมหาศาลในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้า ธุรกิจน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะเรื่องของพลังงานทดแทน ที่มีความเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์

นี่ยังไม่นับรวมกับการได้กำกับดูแลบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ที่มีฐานธุรกิจขนาดใหญ่สินทรัพย์หลายแสนล้านบาท รวมถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการกำลังผลิตไฟฟ้า การลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ การซื้อขายไฟฟ้าประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนระบบสายส่งทั่วประเทศ

หลายคนกำลังลุ้นกับนโยบายพลังงานของรัฐมนตรีคนใหม่ จะสานต่อหรือทบทวนอะไรกันบ้าง โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชนเศรษฐกิจฐานรากทั่วประเทศ กำลังการผลิตกว่า 1,900 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นไฮไลท์ของอดีตรมว.พลังงานฝากไว้เป็นโจทย์สำคัญ

รวมถึงความเชื่อมโยงของแผนพลังงาน 5 แผน ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2561-2580 (พีดีพี2018) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP 2018) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2018)แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas plan)และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง(Oil Plan)

ทั้งนี้จากปัจจัยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย จึงจำเป็นต้องทบทวนแผนพีดีพีใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น และไม่ทำให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าสูงจนเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้า

ดังนั้นจึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า กรณีโรงไฟฟ้าชุมชนที่กำหนดไว้เดิมในแผนพีดีพีประเภทโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน มีเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้ากำลังการผลิตรวม 1,933 เมกะวัตต์ ยังมีความจำเป็นต้องเดินหน้าต่อหรือไม่ ถ้าความต้องการใช้ไฟฟ้าของไทยชะลอตัวลง

แม้ว่าวัตถุประสงค์ของการตั้งโรงไฟฟ้าในชุมชน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนหมุนเวียนในท้องถิ่น และทำให้ทุกหมู่บ้านมีไฟฟ้าไว้ใช้เอง เพื่อลดการลงทุนโรงไฟฟ้าหลักก็ตาม

สำหรับโมเดลของโรงไฟฟ้าชุมชน กำหนดประเภทเชื้อเพลิงมากจาก ก๊าซชีวมวล-ชีวภาพ-โซลาร์เซลล์ ไฮบริด กำหนดรับซื้อไฟฟ้าระหว่างปี 2563-2567 โดยจะนำร่องเปิดรับซื้อโรงไฟฟ้าชุมชนในช่วงระยะสั้น ปี 2563-2565 จำนวน 700 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าชุมชน Quick Win จำนวนรวม 100 เมกะวัตต์ เปิดทางให้กับโรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างแล้วเสร็จหรือใกล้จะแล้วเสร็จ กับโครงการทั่วไป ปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขายไม่เกินรายละ10 เมกะวัตต์ และที่เหลืออีก 600 เมกะวัตต์ เป็นการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการทั่วไป

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากระทรวงพลังงานพยามยามผลักดันโรงไฟฟ้าชุมชนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งคาดหวังว่าโครงการเหล่านี้จะช่วยสร้างเม็ดเงินการลงทุนได้กว่า 7 หมื่นล้านบาท และกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าอีกนับแสนล้านบาท

แต่ถ้าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศยังติดลบต่อเนื่อง ความจำเป็นของการมีโรงไฟฟ้าใหม่ในช่วง 3-4 ปี ก็อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก เพราะปัจจุบันปริมาณสำรองไฟฟ้าของไทยสูงถึง 35- 40 % หากมองในด้านความมั่นคงด้านพลังงานถือว่าดีเพราะมีกำลังผลิตไฟฟ้าเพียงพอ แต่ขณะเดียวกันกันก็มีผลต่อกาคคำนวณต้นทุนค่าไฟต่อหน่วยเพิ่มขึ้น

งานนี้ไม่ว่าใครที่จะเข้ามานั่งเก้าอี้รมว.พลังงาน คงไม่ใช่เรื่องง่าย มีภาระกิจอีกมากที่ต้องเข้ามาสะสาง ส่วนจะเดินหน้าหรือชะลอโครงการใดๆก็ตามขอให้คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศและประชาชนไว้เป็นที่ตั้ง อย่าได้เสียศูนย์เพราะถูกก๊วนนายทุนเข้ามากดดันหรือ ชี้นำเพื่อหาประโยชน์ให้กับตัวเอง