posttoday

"ชารัด" ซีอีโอ ดีแทค เล่าเทรนด์สื่อสารเมืองไทย ยุคนิวนอร์มอล

25 กรกฎาคม 2563

ดีแทค เปิดบ้านเล่าพฤติกรรมลูกค้าช่วงโควิด ใช้ดาต้าในต่างจังหวัดสูง 5 เท่าตัว ดันทราฟฟิกผู้ใช้งานต่อเดือน ครึ่งปีแรกโต 44% เดินหน้าขยาย2 หมื่นโครงข่าย คลุมทั่วไทยให้บริการ เน็ตบ้านไฮสปีด

ช่วงระหว่างล็อคดาวน์ประเทศไทย ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม ถึงกลางเดือน มิถุนายน ที่ผ่านมา มีหลายปรากฎการณ์ที่เข้ามาพลิกการใช้ชีวิตของคนไทยให้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

โดยเฉพาะจากแคมเปญ #อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ที่ผู้คนต้องอยู่บ้าน หรือ Work From Hone กันเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้หลายธุรกิจที่ต้องพึ่งพาการสื่อสารออนไลน์เติบโตแบบก้าวกระโดด และหนึ่งในนั้นกลุ่มธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม

สอดคล้องกับเมื่อเร็วๆนี้ "ชารัด เมห์โรทรา" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เปิดบ้าน ดีแทค บนชั้น 32 อาคารจามจุรีสแควร์ มาบอกเล่าทิศทางการทำงานของบริษัทในครึ่งหลังของปี 2563 นี้ ที่จะยังคงเดินหน้าลงทุนต่อเนื่องไมต่ำกว่า 8,000-10,000 ล้านบาท ที่แม้ว่าจะเป็นงบลงทุนที่ลดน้อยลงไปกว่าเดิมในรอบหลายปีที่ผ่านมาก็ตาม

ชารัค ยอมรับว่าแม้ว่าในไตรมาสสองที่ผ่านมาลูกค้าดีแทค จะหายไปจากเครือข่ายจำนวนหนึ่งก็ตาม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

แต่ในขณะเดียวกัน ปริมาณการใช้งานดาต้าและช่องทางดิจิทัลของลูกค้าดีแทคก็เพิ่มสูงขึ้นกว่าในอดีต

"ดังนั้น เป้าหมายสำคัญของ ดีแทค จึงเป็นการเดินหน้าพัฒนาเครือข่ายสำหรับลูกค้าดีแทค พร้อมมอบข้อเสนอและบริการที่จะช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินของลูกค้าด้วย" ชารัค กล่าว

นอกจากนี้ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมานั้น ดีแทค เล็งเห็นพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง 4 ด้าน ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 คือ 1.อำนาจการจับจ่ายใช้สอยที่ลดลง 2.การใช้งานช่องทางดิจิทัลที่มากขึ้น 3.คลื่นแรงงานที่หลั่งไหลกลับภูมิลำเนา และ4.การใช้งานดาต้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

และจากแนวโน้มที่เกิดขึ้น ทำให้ ดีแทค เร่งยกประสิทธิภาพการรับส่งสัญญาณให้ดีขึ้น 3 เท่า ในพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่น ในยามที่ปริมาณการใช้งานดาต้าในพื้นที่ภูมิภาคนั้นเติบโตสูงกว่ากรุงเทพฯ

3 กลยุทธ์ รับมือผลกระทบโควิด-19

ชารัค กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการรับมือผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นกับสังคมไทย ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์ คือ 1.การสร้างระบบนิเวศดิจิทัลแบบไร้รอยต่อ

2.การพัฒนาประสิทธิภาพเครือข่ายทั่วประเทศรองรับพฤติกรรมใหม่ และ3.การอพยพเคลื่อนย้ายของผู้บริโภค และการทำงานในรูปแบบวิถีใหม่

นอจากนี้ จากรายงานของธนาคารโลก ประชากรไทยจำนวนกว่า 8.3 ล้านคนนั้นเสี่ยงต่อการตกงาน หรือสูญเสียรายได้ เพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว จากจุดนี้เอง ทำให้ดีแทค เตรียมจัดสิทธิพิเศษและบริการต่างๆ ในราคาที่เป็นมิตร เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินให้ลูกค้าที่เป็นคนฐานใหญ่ของประเทศ เพื่อตอบสนองกับความต้องการพื้นฐานของลูกค้า อาทิ ประกันสุขภาพ และการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์

ขณะเดียวกัน ดีแทค ยังเร่งแผนงานติดตั้งเทคโนโลยี Massive MIMO และระบบ 4G-TDD เพื่อรองรับการใช้งานดาต้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์สื่อสารของลูกค้าดีแทคกว่า 76% นั้นรองรับระบบ 4G-TDD ด้วยมองเห็นโอกาสในการทำตลาดเพื่อรองรับความต้องการเชิงลึกของผู้บริโภค ที่ต้องการ “การเชื่อมต่อและบริการดิจิทัล” เป็นเครื่องมือหลักในการดำรงชีวิต มากกว่า

ชารัค เล่าอีกว่าต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้นได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของผู้บริโภคไทยขนานใหญ่ คือ ปริมาณการใช้งานดาต้าเฉลี่ยในแต่ละเดือนนั้นเติบโตขึ้นกว่า 44% จากเดือนมกราคมถึงมิถุนายน หลังความนิยมในแอปพลิเคชันสำหรับการทำงานที่บ้านอย่าง Zoom และ MS Teams และบริการที่จำเป็นจำพวกระบบการเรียนออนไลน์

การใช้บริการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ต่างก็เติบโตพุ่งพรวด การแลกสิทธิพิเศษดีแทค รีวอร์ดในหมวดที่เกี่ยวข้องกับการช้อปปิ้งออนไลน์และบริการสั่งอาหารออนไลน์นั้นเพิ่มสูงขึ้นกว่า 5 เท่าในช่วงระยะเวลาเดียวกัน

เนื่องจากการปิดตัวของร้านค้าต่างๆ นั้นผลักดันให้ผู้บริโภคหันไปใช้งานช่องทางออนไลน์มากขึ้น

ปริมาณการใช้งานดาต้าในพื้นที่ภูมิภาคนั้นเติบโตสูงกว่ากรุงเทพฯ 5 เท่า และยังคงอยู่ในระดับที่สูงแม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว อันเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าคนจำนวนมากเลือกเดินทางกลับไปใช้ชีวิตในภูมิลำเนา มากกว่าการเผชิญชีวิตในกรุงเทพฯ ในฐานะคนว่างงาน

ลงทุน 5G พักก่อน ขอเดินหน้าเน็ตไฮสปีด บ้าน

ชารัค เสริมว่า แผนลงทุนในปี2563 นี้ บริษัทเตรียมงบประมาณ 8,000-10,000 ล้านบาท ขยายบริการคลื่น 2300 MHz บนคลื่นทีโอที เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยตั้งเป้าจะเพิ่มสถานีฐานบนเครือข่าย 4G-TDD เป็นจำนวนมากกว่า 20,000 สถานีฐาน ภายในปี 2563

พร้อมเร่งขยาย Massive MIMO ในพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่นทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน เพื่อยกระดับประสบการณ์ใช้งานทั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนมือถือและเน็ตบ้านแบบใหม่ (dtac@home)

โดยติดตั้งสถานีฐาน 5G คลื่น 26 GHz ในพื้นที่ที่กำหนดเปิดให้บริการ (โดยเริ่มติดตั้งในไตรมาส 2) และคลื่น 700 MHz (รอใบอนุญาตจากสำนักงาน กสทช.) ในรูปแบบทดสอบการใช้งาน (use case) สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม ในโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อให้บริการในไตรมาส 3 อาทิ กล้องตรวจการณ์อัจฉริยะ และ Fixed Wireless Access (FWA) หรือบริการอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงประจำที่

พร้อมติดตั้งคลื่น 700 MHz เพื่อเพิ่มความครอบคลุมของสัญญาณในภูมิภาคสำคัญ (ขึ้นอยู่กับสำนักงาน กสทช. ที่จะอนุญาตให้ใช้งานคลื่นความถี่ 700 MHz) "แนวทางการลงทุนเพื่อให้บริการของดีแทคในครึ่งหลังของปีนี้ อย่างที่กล่าวข้างต้นคือ ดีแทคจะโฟกัสความต้องการที่แท้จริงและจำเป็นต่อลูกค้าเป็นลำดับสำคัญก่อน เพื่อส่งมอบประสบการณ์การสื่อสารที่ดีและมีประสิทธิภาพสูงสุด" ชารัค กล่าว

โดย ดวงใจ จิตต์มงคล