posttoday

ส่งออกไทยร่วงต่อเป็นเดือนที่ 3 ติดลบ 23%

24 กรกฎาคม 2563

‘พาณิชย์’หวั่นส่งออกปีนี้พลาดเป้าต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ หลังแนวโน้มครึ่งปีหลังยังน่าเป็นห่วง จากพิษโควิดรอบ 2 กดดันกำลังซื้อไม่ฟื้นทั่วโลก

น.ส.พิมพ์ชนก  วอนขอพร  ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)  เปิดเผยว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศ ว่า การส่งออกไทยในเดือนมิถุนายน 2563 มีมูลค่า 16,444.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 23.17%  เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 14,833.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 18.05%  การค้าเกินดุล 1,610.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ภาพรวมครึ่งแรกของปี 2563 การส่งออก มีมูลค่า 114,342.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ลดลง 7.09%  ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 103,642.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 12.62 % และ การค้าเกินดุล 10,700.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับแนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ยังคงมีความท้าทาย โดยมีปัจจัยกดดันจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อกำลังซื้อที่ลดลงของประชาชนอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าหลายประเทศในเอเชียจะเริ่มฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดแล้วก็ตาม แต่ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการล็อกดาวน์จากการแพร่ระบาดรอบสอง

นอกจากนี้ยังมีความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สหรัฐฯ-จีน และจีน-อินเดีย สร้างความไม่แน่นอนต่อนโยบายการค้าและเศรษฐกิจโลก และการแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคา

ด้านปัจจัยสนับสนุนการส่งออก ได้แก่ การขนส่งสินค้าที่คล่องตัวขึ้น โดยเฉพาะการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยไทยและประเทศเพื่อนบ้านต่างเริ่มผ่อนคลายเปิดจุดผ่านแดนสำคัญๆ ให้สามารถทำการขนส่งสินค้าได้หลายช่องทางมากขึ้น ซึ่งขณะนี้การขนส่งสินค้าชายแดนผ่านจุดผ่านแดนถาวรระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านกลับมาดำเนินการได้เกือบทั้งหมดแล้ว และ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ภาครัฐออกมาอย่างต่อเนื่อง จะช่วยกระตุ้นให้การใช้จ่ายของประชาชนฟื้นตัว

อย่างไรก็ตามคาดว่าการส่งออกไปจีนจะยังคงสามารถขยายตัวได้ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และการควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี ในขณะเดียวกันตลาดสหรัฐฯกลับมาขยายตัวตามการเร่งเปิดเศรษฐกิจ

สำหรับแนวทางการส่งเสริมการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้สั่งการให้เร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี  โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมีโครงการส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs (SMES PRO-ACTIVE PROGRAM) เพื่อสนับสนุนการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและบริการในต่างประเทศ

รวมทั้งการเข้าร่วมกิจกรรมสร้างโอกาสทางการค้าและเครือข่ายทางธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งโครงการฯ ยังเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการจนถึงเดือนเมษายน 2564 คาดว่าจะสามารถช่วยเหลือและสร้างความเข้มแข็งในด้านการส่งออกให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้อีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากมาตรการส่งเสริมปกติของกระทรวงพาณิชย์

น.ส.พิมพ์ชนก  กล่าวว่า เดือนมิ.ย.สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทย โดยเฉพาะสินค้าอาหาร ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดโลกและสามารถรักษาอัตราการขยายตัวของการส่งออกภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลายในหลายประเทศ เนื่องจากสินค้าไทยเป็นสินค้ามีคุณภาพ มีมาตรฐาน และปลอดภัย โดยสินค้าที่มีอัตราการขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารสัตว์เลี้ยง ผักและผลไม้สดแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป

ขณะที่ไข่ไก่ขยายตัวในระดับสูงเป็นเดือนที่ 2 หลังจากสามารถส่งออกได้ตั้งแต่เดือนพ.ค. 2563 นอกจากนี้ สินค้าข้าวพรีเมียมยังขยายตัวได้ดีเช่นกัน อาทิ ข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้อง และข้าวขาว 100%

ด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าที่ขยายตัวยังคงเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบไมโครเวฟ ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด (โซลาร์เซลล์) และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง ที่ขยายตัวอยู่ในระดับสูง

ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหลักยังคงหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าในหลายประเทศ ซึ่งมีกำลังซื้อลดลง ได้แก่ รถยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ(ไม่รวมทองคำ) ที่มีการหดตัวต่อเนื่อง เนื่องจากผู้บริโภคในต่างประเทศยังคงมุ่งเน้นการบริโภคสินค้าจำเป็นมากกว่าสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาสูง

ขณะเดียวกัน การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปยังคงหดตัวตามความต้องการใช้น้ำมันที่ยังฟื้นตัวได้อย่างจำกัด และราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ได้แก่ เม็ดพลาสติก ยังคงหดตัวตามทิศทางน้ำมันและภาวะเศรษฐกิจโลก