posttoday

ออกกฏเหล็กคุมเข้มบินระหว่างประเทศ สกัดโควิดรอบ2

17 กรกฎาคม 2563

กพท. ออกประกาศฉบับใหม่ แนวปฏิบัติเส้นทางการบินระหว่างประเทศ หลังเกิดกรณีทหารอียิปต์-ลูกฑูตติดโควิด ต้องโชว์ใบรับรองตรวจโรคทุกคน

นายจุฬา  สุขมานพ   ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) เปิดเผยว่า เพื่อให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศและผู้ดำเนินการสนามบินมีแนวทางในการปฏิบัติสำหรับการให้บริการการบินในเส้นทางระหว่างประเทศที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและกฎระเบียบของไทย

ทั้งนี้ประกอบไปด้วย  1. แนวปฏิบัติตามประกาศนี้ให้ใช้บังคับแก่การปฏิบัติการบินในเส้นทางการบินระหว่างประเทศ (International Flights) และสนามบินที่ให้บริการแก่การบินระหว่างประเทศ   โดยให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศดำเนินมาตรการ ดังนี้  

          1.แจ้งให้ผู้โดยสารทราบถึงมาตรการทางสาธารณสุขของทางการไทยในการควบคุมและป้องกันโรค ทั้งมาตรการก่อนเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร มาตรการเมื่อเดินทางถึง/ระหว่างอยู่ในราชอาณาจักร และมาตรการก่อนเดินทางออกจากราชอาณาจักร เช่น การกักตัวในสถานที่ที่รัฐจัดไว้ให้ (State Quarantine) เป็นเวลา 14 วัน เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว การลงแอปพลิเคชั่นติดตามอาการและการเดินทาง เข้าสถานที่ต่าง ๆ การตรวจหาเชื้อโควิด – 19 โดยวิธี RT-PCR เป็นต้น

         2. ในกรณีที่ปรากฏว่าท่าอากาศยานต้นทางไม่มีการตรวจคัดกรองผู้โดยสารและบุคคลที่เข้ามาใช้บริการในท่าอากาศยาน ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศทำการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของผู้โดยสาร โดยใช้เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรดที่ไม่ต้องสัมผัสกับร่างกายของผู้ถูกตรวจวัด (Non-contact infrared thermometer) ก่อนออกบัตรโดยสาร (Boarding Pass) และสังเกตอาการโดยทั่วไป หากวัดอุณหภูมิได้สูงกว่า 37.3 องศาเซลเซียส หรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทันที หากการวินิจฉัยเห็นว่ามีความเสี่ยง ให้ระงับการออกบัตรโดยสาร (Boarding Pass) แก่ผู้โดยสารนั้น

         3. ก่อนออกบัตรโดยสาร ให้ตรวจสอบเอกสารสำคัญของผู้โดยสารตามมาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 แนบท้ายคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ที่ 7/2563 เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 6) สั่ง ณ วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 และมาตรการอื่นที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งระบุเงื่อนไขของเอกสารจำเป็นสำหรับบุคคลประเภทต่าง ๆ ถ้าตรวจสอบแล้วพบว่าเอกสารไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ให้ระงับการออกบัตรโดยสารแก่ผู้โดยสารนั้น

         4. ในกรณีที่ให้บริการเช่าเหมาลำ (Charter Flight) ให้กำหนดให้ผู้เช่า (Charterer) วางมาตรการคัดกรองผู้โดยสารที่จะนำขึ้นเครื่อง โดยการบริการระหว่างประเทศที่มีสถานการณ์การระบาดของโรคสูง ให้กำหนดให้ผู้โดยสารแสดงผลการตรวจหาเชื้อโควิด – 19 โดยวิธี RT-PCR ให้ตรวจสอบก่อนออกบัตรโดยสาร

         5. ในระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบเพื่อออกบัตรโดยสาร ถ้าพบว่าผู้โดยสารไม่มีหน้ากากปิดจมูกและปาก (Mask) หรืออุปกรณ์ป้องกันใบหน้าบริเวณจมูกและปาก (Face Covering) และไม่สามารถจัดหามาแสดงได้ก่อนการเดินทาง ให้ระงับการออกบัตรโดยสารแก่ผู้โดยสารนั้น

         6. กำหนดให้ผู้โดยสารต้องสวมหน้ากากหรืออุปกรณ์ป้องกันใบหน้าบริเวณจมูกและปาก ตลอดเวลาที่อยู่ในอากาศยาน ยกเว้นในสถานการณ์จำเป็นหรือฉุกเฉิน

         7. กำหนดให้มีมาตรการและวิธีปฏิบัติเพื่อรักษาระยะห่างของผู้โดยสารตลอดระยะเวลาเดินทาง โดยรวมถึงการลำเลียงผู้โดยสารเพื่อขึ้นและลงจากอากาศยาน จำกัดการรวมกลุ่มในขณะจัดเก็บหรือหยิบสัมภาระในที่เก็บของเหนือศีรษะ การย้ายที่นั่งโดยไม่จำเป็น การเข้าแถวรอใช้ห้องน้ำในห้องโดยสาร รวมถึงมีวิธีการปฏิบัติเพื่อให้แน่ใจว่ามีการรักษาระยะห่างที่เหมาะสมสำหรับผู้โดยสารที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ

         8. จัดให้มีแอลกอฮอล์ความเข้มข้นไม่น้อยกว่า 70% ใช้สำหรับล้างมือไว้ให้บริการอย่างเพียงพอให้กับผู้โดยสารและพนักงานของผู้ดำเนินการเดินอากาศ

         9. กำหนดให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในอากาศยานใช้อุปกรณ์ช่วยป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment; PPE) ดังนี้ กรณีนักบินให้สวมหน้ากากหรืออุปกรณ์ป้องกันใบหน้าบริเวณจมูกและปาก  ส่วนลูกเรือให้สวมหน้ากากหรืออุปกรณ์ป้องกันใบหน้าบริเวณจมูกและปาก และถุงมือยาง (Disposable Medical Rubber Gloves) ตลอดระยะเวลาปฏิบัติการบิน โดยผู้ดำเนินการเดินอากาศอาจพิจารณาจัดหาอุปกรณ์อื่นที่สามารถป้องกันการติดเชื้อเพิ่มเติมได้ เช่น แว่นตา (Goggles) หรือชุดป้องกันเชื้อโรค (PPE) เป็นต้น 

         10.งดการให้บริการหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือแผ่บพับโฆษณาต่าง ๆ สำหรับผู้โดยสาร ยกเว้น เอกสารที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยเท่านั้น รวมทั้งงดการจำหน่ายสินค้าที่ระลึกและสินค้าปลอดภาษีอากร

         11. ให้ลูกเรือติดต่อสื่อสารกับนักบินผ่านอุปกรณ์สื่อสารภายในอากาศยาน (Interphone) เป็นหลัก และได้รับอนุญาตให้เข้าและออกห้องนักบินเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่นักบินเฉพาะเมื่อมีเหตุจำเป็นเท่านั้น

         12. เที่ยวบินที่ปฏิบัติการบินโดยใช้ระยะเวลาน้อยกว่า 120 นาที ให้งดการให้บริการอาหารและเครื่องดื่มในระหว่างการปฎิบัติการบิน รวมทั้งห้ามผู้โดยสารรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่นำติดตัวมา ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็นลูกเรือจะเป็นผู้พิจารณาตามสถานการณ์ หากเห็นสมควร ให้ลูกเรือสามารถบริการน้ำดื่มแก่ผู้โดยสารได้ ทั้งนี้ ให้กระทำในพื้นที่ที่ห่างจากผู้โดยสารคนอื่นให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้

         เที่ยวบินที่ปฏิบัติการบินโดยใช้ระยะเวลามากกว่า 120 นาที สามารถบริการอาหารและเครื่องดื่มได้ โดยพิจารณาบรรจุภัณฑ์แบบปิด (sealed, pre-packaged containers) สำหรับการให้บริการและการจัดเก็บหลังการให้บริการ โดยลดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างการให้บริการให้มากที่สุด แต่ยังคงต้องดูแลและปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยในห้องโดยสาร

         13. เที่ยวบินที่ปฏิบัติการบินโดยใช้ระยะเวลามากกว่า 240 นาที ให้มีการสำรองที่นั่ง 3 แถวหลังสุดด้านใดด้านหนึ่งของอากาศยานไว้สำหรับแยกกักผู้ป่วยหรือสงสัยว่าจะป่วยเพื่อเฝ้าสังเกตอาการและป้องกันการแพร่กระจายของโรค

         ในกรณีที่พบผู้โดยสารหรือลูกเรือที่มีอาการป่วยหรือสงสัยว่าจะป่วยเป็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ขณะอยู่ในอากาศยาน ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศดำเนินมาตรการ On-board Emergency Quarantine  ให้แยกกักผู้ที่มีอาการป่วยหรือสงสัยว่าจะป่วยให้นั่งที่ที่นั่งซึ่งสำรองไว้ ตามที่ระบุในวรรคแรกโดยให้ห่างไกลจากผู้โดยสารคนอื่นมากที่สุด ในกรณีที่มีห้องน้ำมากกว่าหนึ่งห้อง ให้กันห้องน้ำที่อยู่ใกล้บริเวณที่สำรองไว้ตามวรรคแรก ไว้สำหรับเฉพาะผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยว่าจะป่วย  และพิจารณากันห้องน้ำห้องหนึ่งไว้สำหรับลูกเรือได้ใช้โดยเฉพาะ โดยให้คำนึงถึงจำนวนห้องน้ำที่เพียงพอสำหรับผู้โดยสารได้ใช้ด้วย

ทั้งนี้ให้มอบหมายให้ลูกเรือคนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่แยกกัก และให้ลูกเรือที่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับลูกเรือคนอื่นในระยะใกล้กว่า 2 เมตร

นอกจากนี้ให้นักบินผู้ควบคุมอากาศยานแจ้งข้อมูลการตรวจพบผู้โดยสารหรือลูกเรือที่มีอาการป่วยหรือสงสัยว่าจะป่วยดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ เพื่อรายงานให้แก่ผู้ดำเนินการสนามบิน ณ ท่าอากาศยานปลายทางทราบ

ด้านผู้ดำเนินการสนามบินดำเนินมาตรการ ดังนี้ 1. ตรวจคัดกรองบุคคลที่เข้ามาใช้บริการในท่าอากาศยาน โดยต้องมีตรวจสอบการสวมหน้ากากหรืออุปกรณ์ป้องกันใบหน้าบริเวณจมูกและปาก และการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย (Body Temperature Screening) ด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรดที่ไม่ต้องสัมผัสกับร่างกายของผู้ถูกตรวจวัด (Non-contact Infrared Thermometer) หากบุคคลนั้นไม่สวมหน้ากากหรืออุปกรณ์ป้องกันใบหน้าบริเวณจมูกและปาก หรือวัดอุณหภูมิได้สูงกว่า 37.3 องศาเซลเซียส ให้ปฏิเสธการให้เข้าพื้นที่ท่าอากาศยาน

2. ใช้ความเข้มงวดในการให้บริการแก่อากาศยานที่ขอลงทางเทคนิค (Technical Landing) เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีผู้โดยสารออกจากเครื่อง และหากมีการสับเปลี่ยนผู้ประจำหน้าที่ในอากาศยาน บุคคลดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามมาตรการตามโดยเคร่งครัด

3. ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศแจ้งเตือนผู้โดยสารเพื่อให้รับทราบและปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่เกี่ยวกับมาตรการทางสาธารณสุขก่อนการเดินทาง และให้ประกาศแจ้งผู้โดยสารอีกครั้งในระหว่างการเดินทาง เพื่อให้ทราบว่าการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ควบคุมอากาศยานหรือเจ้าหน้าที่ประจำอากาศยาน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการสวมอุปกรณ์ป้องกันใบหน้าบริเวณจมูกและปาก และมาตรการทางสาธารณสุขอย่างอื่นบนอากาศยานเป็นความผิดและอาจได้รับโทษตามกฎหมายว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ