posttoday

ชง Business Bubble ดึงต่างชาติลงทุนต่อเนื่องในอีอีซี

22 มิถุนายน 2563

บอร์ดอีอีซีเตรียมเสนอศบค.พิจารณาผ่อนผันนักธุรกิจต่างชาติเข้าไทยดำเนินกิจการเฉพาะพื้นที่อีอีซีในรูปแบบ Business Bubble หวังกระตุ้นการลงทุน ขณะที่ยอดขอลงทุนผ่านบีโอไอในอีอีซี 5 เดือนแรกวูบ10%

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยผลประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ว่า ที่ประชุมจะเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 1019 ( ศบค.)พิจารณาแนวทางผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี  ในรูปแบบ Business Bubble เพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ รวมถึงการส่งช่างเทคนิค เข้ามาตรวจสอบซ่อมบำรุงเครื่องจักรในอุตสาหกรรม และเพื่อสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ต่อเนื่อง

ทั้งนี้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยและต่างประเทศ มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อรองรับบุคลากรภาคธุรกิจในพื้นที่ อีอีซี ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สกพอ. อยู่ระหว่างหารือร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงสาธารณสุข ถึงแนวทางผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศไทย ได้แก่ การสร้างภาคีเครือข่ายองค์กร บุคลากรทางการแพทย์ในประเทศต้นทาง กับสถานเอกอัครราชทูตไทยหรือสถานกลศุลใหญ่ โดยจัดให้มีการตรวจและออกใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าผู้เดินทางมีสุขภาพเหมาะสมกับการเดินทางทางอากาศ (Fit to Fly)

การขึ้นทะเบียนสถานที่และการบริการ Alternative State Quarantine เพิ่มเติมในพื้นที่อีอีซี และทบทวนข้อกำหนด หรือมาตรการให้บุคลากรต่างชาติสามารถทำภารกิจในพื้นที่ได้คล่องตัวยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รับทราบการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ อีอีซี โดยมีเป้าหมาย ยกระดับรายได้เกษตรกรให้เทียบเท่ากลุ่มอุตสาหกรรมและบริการ ซึ่งจะใช้ความต้องการ นำการผลิต ได้แก่ ความต้องการในประเทศ การรองรับมหานครการบินภาคตะวันออก เมืองใหม่ และการท่องเที่ยว  ขณะที่ความต้องการในต่างประเทศ ต้องสำรวจตลาดหาความต้องการเอเชีย CLMV และยุโรป ที่มีความต้องการสูง สร้างความต้องการด้วยการพัฒนาสินค้าใหม่

การให้ความสำคัญกับเกษตร 5 คลัสเตอร์ที่มีพื้นฐาน ทำได้ทันที ได้แก่ ผลไม้ – พืช Bio-Based3 - ประมง - สมุนไพร - พืชมูลค่าสูง (เช่น ไม้ประดับ/ผักปลอดสารพิษ)โดยได้แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ อีอีซี ที่มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน และมีผู้แทนจาก สกพอ. เป็นเลขานุการร่วม

ด้านความก้าวหน้าของโครงการจัดหาพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) ในพื้นที่อีอีซี  ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้เสนอโครงการพลังงานที่ใช้ในเมืองใหม่ รูปแบบพลังงานอัจฉริยะ (Smart Power Supply: SPS) ในลักษณะการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง หรือ Independent Power Supply (IPS) ซึ่งมอบหมายให้ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผลิตไฟฟ้าเพื่อส่งให้ กฟภ.รับซื้อ และส่งจำหน่ายสำหรับใช้ในเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ โดยอัตราค่าไฟฟ้าที่จะใช้ในมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะไม่สูงกว่าราคาไฟฟ้าทั่วไปที่ กฟภ.ขายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่นๆ

นายคณิศ กล่าวถึง ภาพรวมขอรับส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.2563) ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) มียอดขอลงทุนรวม 74,151 ล้านบาท  ลดลง 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน