posttoday

กลุ่มคนดนตรีวอนรัฐเป็นตัวกลาง เจรจาลดค่าลิขสิทธิ์เพลงช่วงโควิด

18 มิถุนายน 2563

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ถกร่วมศิลปินนักดนตรีหาทางออก ถูกโขกค่าลิขสิทธิ์เพลง เสนอไทยควรมีระบบการจัดเก็บลิขสิทธิ์เพียงองค์กรเดียว ป้องกันจัดเก็บซ้ำซ้อน

น.ส.นุสรา กาญจนกูล  อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา    เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับผู้แทนกลุ่มคนดนตรี นำโดยนางสุดา ชื่นบาน นักร้องชื่อดังและอุปนายกฝ่ายบริหารสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ นายวรพจน์ นิ่มวิจิตร ตัวแทนกลุ่ม Music Digital Content & Copyright และนายธเนส สุขวัฒน์ จากมิวสิคกูรู ถึงการหาทางออกเรื่องลิขสิทธิ์สำหรับกลุ่มคนดนตรี สู้วิกฤติโควิด-19 ว่า  จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19ได้ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน รวมทั้งกลุ่มศิลปินนักร้องและนักดนตรีด้วย  โดยผู้แทนจากสมาคมดนตรีฯเล่าถึงปัญหาในการกลับมาร้องเพลง เล่นดนตรี ในช่วงที่รัฐบาลเริ่มมาตรการผ่อนปรน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงและมาตรฐานราคาค่าลิขสิทธิ์

ทั้งนี้ขอให้ภาครัฐเป็นสื่อกลางในการารือระหว่างบริษัทจัดเก็บลิขสิทธิ์กับกลุ่มศิลปิน นักร้อง นักดนตรีในการเจรจาเรื่องดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมา กรมทรัพย์สินทางปัญญาตระหนักถึงปัญหาการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์และไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องดังกล่าว ขณะนี้กรมฯ อยู่ระหว่างจัดทำร่างคู่มือ “หลักปฏิบัติที่ดีในการบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลง” เพื่อใช้เป็นแนวทางให้องค์กรจัดเก็บ เจ้าของสิทธิ ผู้ใช้งาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้เข้าใจภาพรวมของการบริหารสิทธิในระดับสากลมากยิ่งขึ้น

ด้านกลุ่มคนดนตรี อธิบายว่า แม้ว่าขณะนี้ธุรกิจดนตรีจะมีการเจรจาเพื่อลดค่าใช้จ่ายในเรื่องต่างๆ แต่ค่าลิขสิทธิ์เพลงยังเป็นประเด็นที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ระหว่างกลุ่มศิลปินนักดนตรีกับเจ้าของลิขสิทธิ์ อีกทั้งอยากให้ในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 มีการผ่อนผันเรื่องการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ออกไปก่อน พร้อมเสนอไทยควรมีระบบการจัดเก็บลิขสิทธิ์เพียงองค์กรเดียว เพื่อความสะดวกในการใช้งานเพลง และป้องกันปัญหาการจัดเก็บซ้ำซ้อนด้วย

?น.ส.นุสรา กล่าวว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาพร้อมที่จะเป็นสื่อกลางในการหารือระหว่างศิลปินและองค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถก้าวผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปพร้อมๆ กัน และกรมฯ เชื่อว่า หลักปฏิบัติที่ดีในการบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงที่กำลังจัดทำอยู่นี้ จะเป็นคู่มือแนะนำให้องค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ในประเทศไทย เจ้าของสิทธิ ผู้ใช้งาน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องตระหนักถึงความสำคัญ ของการพัฒนาประสิทธิภาพการจัดเก็บ

อย่างไรก็ตามคาดว่าจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องก่อนนำคู่มือดังกล่าวเผยแพร่เร็วๆ นี้ โดยมั่นใจคู่มือดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการคุ้มครองเจ้าของสิทธิและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส สร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วน และส่งผลให้อุตสาหกรรมเพลงของไทยเติบโตได้อย่างมั่นคงต่อไป