posttoday

สั่งบีโอไอทำแพจเกจบูมลงทุนช่วงโควิด ปักหมุดไทยฮับ CLMVT ลุยปั้นสตาร์ทอัพยูนิคอร์น

15 มิถุนายน 2563

“สมคิด” ลั่นไทยต้องเป็นฮับลงทุน CLMVT อาศัยวิกฤตโควิดสร้างโอกาสหาแพคเกจดึงลงทุน เล็งสร้างสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น ใน 5 ปี โฟกัสเกษตร-อาหาร

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายแก่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)ว่า  ต้องการให้บีโอไอใช้โอกาสจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลกสร้างปมเด่นให้กับประเทศไทยเพื่อดึงดูดการลงทุนในอนาคต  ซึ่งไทยมีจุดเด่นในเรื่องเกษตร อาหาร และภาคบริการ โดยมีเป้าหมายต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) กลุ่มประเทศ CLMVT (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, เวียดนาม และไทย)

ทั้งนี้ไทยได้เปรียบประเทศอื่นในเรื่อง อาหาร, บริการทางการแพทย์และเครื่องมือแพทย์  ,การท่องเที่ยว ,โลจิสติกส์ และดิจิทัล ซึ่งกิจการเหล่านี้ต้องการให้บีโอไอไปพิจารณาว่าจะมีเครื่องมืออะไรที่จะดึงดูดนักลงทุนเข้ามาได้

นอกจากนี้อยากให้จัดทำนโยบายส่งเสริมกลุ่ม สมาร์ท ฟาร์มเมอร์  เพื่อให้เกิด Local Economy เนื่องจากช่วงที่เกิดโควิด-19 มีคนกลับภูมิลำเนากันมาก โดยมีการช่วยเหลือด้านโลจิสติกส์ หรือเครื่องจักรทางการเกษตร เป็นต้น ซึ่งบีโอไอแจ้งว่า อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของญี่ปุ่นต้องการมาลงทุนในไทยแล้ว

อย่างไรก็ตามในช่วง 5 ปี ข้างหน้า จะต้องเร่งสร้างผู้ประกอบการไทย กลุ่มสตาร์ทอัพ ให้เป็นระดับยูนิคอร์น ที่ยอดขายระดับ 1,000 ล้านบาท ให้สามารถเข้าตลาดหุ้นและเติบโตได้ จากเดิมที่เน้นการดึงลงทุนจากต่างประเทศ  ดังนั้นจะต้องมีมาตรการช่วยเหลืออะไรได้บ้าง   โดยให้เน้นอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป " ตอนนี้คงต้องกลับมามองศักยภาพของเราเอง ในประเทศ โดยใช้จุดแข็งที่มีอยู่ อย่างอังกฤษเคยมีฐานการผลิต และต่อมาก็ปรับไปสู่ศูนย์กลางการลงทุนด้านการบริหาร การเงิน การศึกษา ขณะที่ไทยเองก็น่าจะมองลักษณะนี้เช่นกันคือเราไม่ได้ทิ้งของเก่าแต่อะไรที่เห็นว่าจุดแข็งต้องทำคือเกษตรเราเข็มแข็งต้องเน้นพิเศษเลยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก "นาย

ด้านน.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า การลงทุนในปีนี้ลดลงแน่นอนเหมือนประเทศอื่นๆทั่วโลก  แต่จะพยายามทำให้ดีที่สุด โดยบีโอไอยังคงยึดนโยบายหลักคือการ ดึงลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายแต่จะเพิ่มนโยบายการผลักดันไทยสู่ศูนย์กลาง CLMVT โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่จะมีการปรับปรุงเพิ่มประเภทกิจการเช่น Plant Factory และเงื่อนไขส่งเสริมด้านสิทธิประโยชน์บางกิจการเพิ่มเติมซึ่งขณะนี้นักลงทุนโดยเฉพาะญี่ปุ่นสนใจเข้ามามาก รวมถึงการปรับปรุงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ซึ่งจะเสนอเข้าสู่บอร์ดบีโอไอวันที่ 17 มิ.ย.นี้