posttoday

ซีอีโอใหม่ปตท.พร้อมรับปัจจัยเสี่ยง ชูไอเดียขับเคลื่อนองค์กร “PTT by PTT”

12 มิถุนายน 2563

“อรรถพล” เปิดวิสัยทัศน์ซีอีโอคนที่ 10 มุ่งฝ่าวิกฤต หาพันธมิตร-สร้างธุรกิจใหม่ รองรับการเปลี่ยนแปลง พร้อมรับมือทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

นายอรรถพล   ฤกษ์พิบูลย์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในปี 2563 ทั่วโลกและประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  สถานการณ์ราคาน้ำมันผันผวน ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคม ธุรกิจ พฤติกรรมของผู้บริโภค สู่บริบทใหม่หรือ new normal ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายอย่างยิ่งของประเทศไทย รวมถึง กลุ่ม ปตท.

ทั้งนี้“ภารกิจ ปตท. ยังคงต้องรักษาความเข้มแข็งของธุรกิจหลักและสร้างธุรกิจใหม่แทนที่การเติบโตในรูปแบบเดิม โดยผมมุ่งหวังที่จะให้กลุ่ม ปตท. เป็นองค์กรด้านพลังงานของประเทศ และเป็นแรงขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลง ตามแนวคิดที่เรียกว่า PTT หรือ Powering Thailand’s Transformation”

นอกจากนี้ต้องตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย โดยวางพื้นฐานหลักในการทำงานด้วยกลยุทธ์ PTT ร่วมกับแนวคิด PTT เช่นเดียวกันหรือที่เรียกว่า “PTT by PTT” ประกอบด้วย

1.Partnership and Platform เน้นการดำเนินธุรกิจด้วยการสร้างพันธมิตรและพัฒนาธุรกิจของ ปตท. ให้มีลักษณะเป็นแพลทฟอร์มมา0กกว่าเป็นแค่ผู้ผลิตสินค้าและจำหน่าย โดย ปตท. จะดึงดูดพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ จากต่างประเทศ ควบคู่กับการสร้างความร่วมมือกับทั้งรัฐวิสาหกิจ เอกชน ผู้ประกอบการไทย และ SMEs

2.Technology for All เทคโนโลยีที่เกิดจากการผสมผสานด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญ นวัตกรรม และดิจิทัล โดยจะใช้ในทุกมิติของกระบวนการดำเนินงาน ทั้งการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ และใช้บริหารจัดการองค์กร รวมทั้งการขับเคลื่อนสู่ภายนอก เป็นการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคม

3.Transparency and Sustainability สร้างความโปร่งใสและความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ

ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการรองรับวิกฤตและลดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในช่วงเวลานี้ กลุ่ม ปตท. ได้นำแนวคิด 4R’s มาประยุกต์ใช้บริหารจัดการ ได้แก่1.Resilience สร้างความยืดหยุ่นพร้อมดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง สร้างความปลอดภัยให้พนักงาน ประเมินสุขภาพองค์กร ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น จัดความสำคัญของโครงการลงทุน ตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ และรักษาสภาพคล่อง

2.Restart เตรียมความพร้อมในการนำธุรกิจ พนักงาน ลูกค้าและคู่ค้า กลับสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุดและรักษาความสามารถทางการแข่งขัน  3.Re-imagination ในขณะเดียวกันต้องเตรียมออกแบบธุรกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดเป็น Next normal ทั้งธุรกิจเดิมและ New S-Curve

และ4. Reform พร้อมปฏิรูป จัดโครงสร้างองค์กรและธุรกิจ ให้สอดคล้องกับทิศทางในอนาคตและพร้อมรองรับทุกสถานการณ์อันไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกกรณี

นายอรรถพล  กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก ปตท. ได้คุมค่าใช้จ่ายตามนโยบาย “ลด ละ เลื่อน” กันอย่างจริงจัง

"ธุรกิจปตท.คือ Ecosystem ด้านพลังงานของประเทศ ปตท.เป็นผู้ดูแลและจะต้องปรับเปลี่ยน Ecosystem นี้ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก และจะต้องเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ  การทำหน้าที่ในตำแหน่ง ซีอีโอปตท.จึงมีภาระหน้าที่ที่จะต้องหลอมรวมจิตวิญญาณของพนักงานของผู้คน ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  ที่จะทำงานร่วมกัน ให้ก้าวข้ามผ่านพ้นการเปลี่ยนแปลง สร้างความไว้วางใจ นำมาซึ่งความผูกพัน ความสามัคคี และก้าวสู่ความสำเร็จร่วมกัน"