posttoday

คลังเร่งช่วยภาคขนส่งหวั่นลามตกงานหนัก

10 มิถุนายน 2563

คลังเร่ง ธปท. - ออมสิน ปล่อยสินเชื่อช่วยภาคขนส่ง หลังโดนผลกระทบโควิดรถหยุดวิ่ง 1.4 ล้านคัน

นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง กล่าวว่า สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ได้ขอพบยื่นหนังสือให้คลังออกมาตรการช่วยเหลือ หลังจากผู้ประกอบการในภาคการโลจิสติกส์ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องหยุดกิจการและเลิกจ้างพนักงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในการดูแลให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนอย่างครอบคลุมทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก และไม่กระทบการเลิกจ้างงาน การเลิกกิจการ รายได้และค่าครองชีพลดลง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดูแลช่วยเหลือ

สำหรับแนวทางการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

1. แนวทางการให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้า โดยการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการผ่านมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้ปล่อยกู้ไปแล้ว 7 หมื่นล้านบาท จึงยังมีวงเงินเหลือเพียงพอ และซอฟท์โลนของธนาคารออมสิน วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ผู้ประกอบการโลจิสติกส์สามารถไปใช้วงเงินดังกล่าวเพื่อเสริมสภาพคล่องได้

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในการเร่งออกมาตรการเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินในระบบสถาบันการเงินได้ โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนในสัปดาห์หน้า

2. ระยะฟื้นฟู ซึ่งถือเป็นช่วงสำคัญ จะมีมาตรการสินเชื่อเพื่อการปรับตัว เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มีการปรับตัวเพื่อรับกับรูปแบบธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นภายหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ และจะมีการประสานงานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และกระทรวงอุตสาหกรรมในการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อรวมรวบข้อมูลเรื่องการขนส่งของประเทศ เพื่อเสริมศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจโลจิสติกส์ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่รัฐบาลให้การสนับสนุน

นายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานที่ปรึกษาสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีรถขนส่งของผู้ประกอบการในธุรกิจโลจิสติกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่หยุดกิจการ หรือเลิกจ้างพนักงานรถหยุดวิ่ง 1.4 ล้านคัน โดยในจำนวนนี้ แบ่งเป็นผู้ประกอบการขนส่งโดยสาร ซึ่งไม่เกี่ยวกับ บขส. – ขสมก. ที่ได้รับผลกระทบ 60-70% และผู้ประกอบการที่ขนส่งสินค้า ได้รับผลกระทบ 40-50% จากผู้ประกอบการโลจิสติกส์ในประเทศ ทั้งสิ้น 3 แสนราย

ทั้งนี้ ได้ยื่นขอเสนอให้กระทรวงการคลังในการลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย เหลือ 0.5% จากปัจจุบันอยู่ที่ 1% เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ และเพื่อไม่ให้เกิดการเลิกจ้างพนักงานในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ด้วย ซึ่งในส่วนนี้ รมว.การคลัง ได้รับเรื่องแล้วและรับปากว่าจะไปหารือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ

“ในเรื่องสภาพคล่องนั้น ปัจจุบันมีผู้ประกอบการหลายรายที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนในระบบ เพราะไม่มีทรัพย์สินที่มีส่วนใหญ่เป็นรถบรรทุก ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ หรือที่ดิน ทำให้สถาบันการเงินปฏิเสธการให้สินเชื่อ ดังนั้นจึงอยากให้กระทรวงการคลังเข้ามาดูแลเรื่องสภาพคล่อง โดยวงเงินที่ต้องการหลักหมื่นล้านบาท เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับภาคธุรกิจ” นายทองอยู่ กล่าว