posttoday

ลุยปรับโครงสร้างหนี้อุตสาหกรรมครัวเรือน จมพิษโควิด ยื่นแจ้งรับสิทธิยืดจ่ายสูงสุด 6 ปี

07 มิถุนายน 2563

กสอ.เครื่องร้อนเดินหน้ามาตรการลดผลกระทบผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมครัวเรือน -หัตกรรม ยืดชำระหนี้สูงสุด 6 ปี พักดอกเบี้ย อนุมัติภายใน 90 วัน คาดช่วยฟื้นได้ 678 กิจการ

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) เปิดเผยว่า  กสอ.ขานรับนโยบาย รมว.อุตสาหกรรม ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19  เพิ่มเติม ผ่าน “มาตรการ ฟื้นฟูอุตสาหกรรม ดีพร้อมทันที 90 วัน”

ทั้งนี้จะเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการปรับลดโครงสร้างหนี้เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัว  และหัตถกรรมไทย ปีบัญชี พ.ศ. 2563 เพื่อให้สามารถชำระหนี้ได้ครบตามจำนวน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ลูกหนี้ที่ค้างชำระมากกว่า 6 งวด แต่ไม่เกิน 12 งวด ลูกหนี้ที่ค้างชำระมากกว่า 12 งวด โดยคาดว่าสามารถฟื้นสภาพคล่องผู้ประกอบการ  678 กิจการ ดำเนินการได้ทันทีใน 90 วัน

ทั้งนี้การปรับลดโครงสร้างหนี้เงินทุนหมุนเวียน จะอยู่ใน 7 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ 1.อาหาร 2.เครื่องดื่ม 3. ผ้าและเครื่องแต่งกาย 4. ของใช้และเครื่องประดับตกแต่ง

5. ศิลปะประดิษฐ์และของที่ระลึกที่สะท้อนวิถีชีวิตภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น 6. สมุนไพรที่ไม่ใช่ยาและอาหาร และ  7. อุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่สนับสนุนเกื้อกูลกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือ SMEs ใน 7 อุตสาหกรรมข้างต้น ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมสาขาเป้าหมายที่ได้รับการพิจารณาเข้าร่วมมาตรการเยียวยาโควิด-19

สำหรับแนวทางดำเนินงานปรับโครงสร้างหนี้ กสอ.จะเร่งแจ้งสิทธิตามมาตรการเพื่อให้ลูกหนี้ทุกรายได้รับทราบ โดยลูกหนี้สามารถยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการปรับโครงสร้างหนี้กับเงินทุนหมุนเวียนฯ เพื่อเข้าสู่การตรวจสอบคุณสมบัติ พิจารณาอนุมัติให้ปรับโครงสร้างหนี้

รวมถึงทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ โดยขั้นตอนทั้งหมดนี้ สามารถดำเนินการได้ ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่ยื่นคำร้อง ยื่นได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2563    โดยประสานได้ที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 – 11 ทั่วประเทศ

อย่างไรก็ดี กสอ. คาดการณ์ว่าการปรับโครงสร้างหนี้เงินทุนหมุนเวียน จะสามารถฟื้นฟูลูกหนี้ค้างชำระให้สามารถชำระหนี้ได้และปรับระดับมาอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ปกติ รวมมูลค่าหนี้ค้างชำระกว่า 57 ล้านบาท ซึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับกิจการ และนำพาภาคอุตสาหกรรมให้ผ่านพ้นภาวะวิกฤตได้ทั้งสิ้น 678 กิจการ