posttoday

ครม.ไฟเขียวหั่นภาษีดิน90%

02 มิถุนายน 2563

นายก ไฟเขียวหั่นภาษีดิน90% ช่วยบรรเทาภาระประชาชน สูญรายได้ 3.6 หมื่นล้าน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2563 มีมติเห็นชอบให้ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับปีภาษี 2563 ลง 90% เนื่องจากเห็นว่าหากเก็บในเวลานี้ประชาชนยังอยู่ในช่วงที่มีความเดือดร้อน แต่จะลดเฉพาะปีภาษี 2563 เท่านั้นเพื่อไม่ให้กระทบต่อรายได้ภาษีในอนาคต โดยจะดำเนินการออกเป็นพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.) ต่อไป

ก่อนหน้านี้ ครม. เคยเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างภายในเดือน ส.ค. 2563 จากเดิมภายในเดือนเม.ย. 2563 อย่างไรก็ตาม ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งเป็นผู้เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อาจจะได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีที่ล่าช้าออกไป ครม. จะได้ร่วมกันพิจารณาเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาต่อไป

ครม.ไฟเขียวหั่นภาษีดิน90%

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท พ.ศ. .... (พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยสาระสำคัญ เป็นการลดจำนวนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตรา 90% ของจำนวนภาษีที่คำนวณ ไม่ใช่เป็นการลดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สำหรับปีภาษี 2563

ทั้งนี้ การลดจำนวนภาษีจำนวนภาษีที่ต้องเสีย มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยบรรเทาภาระภาษีแก่ประชาชนและผู้ประกอบการทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเป็นการลดจำนวนภาษีให้แก่ ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ใช้ประโยชน์อื่นนอกจากเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย และรกร้างว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ

“ที่คลังไม่เลื่อนการจัดเก็บภาษี จากเดิมที่เลื่อนให้เสียในช่วง เม.ย. เป็น ส.ค. ออกไปอีก เพราะกฎหมายภาษีโรงเรือนและบำรุงท้องที่ได้ยกเลิกไปแล้ว หากไม่เก็บในปีนี้ ก็จะทำให้ท้องถิ่นไม่มีรายได้เลย โดยคลังประเมินว่า การจัดเก็บที่ลดลง 90% จะทำให้มีรายได้เหลือเพียง 4,000 ล้านบาท หายไป 36,000 ล้านบาท และจะเริ่มไปจัดเก็บภาษีในอัตราปกติ เม.ย.2564”นายลวรณ กล่าว นายลวรณ กล่าวว่า การลดจำนวนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% สำหรับที่ดินมีมูลค่าราคาประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาทกรณีที่ดินเกษตรกรรม 0.01% คิดเป็นค่าภาษี 500 บาท จะชำระภาษีเพียง 50 บาท กรณีที่อยู่อาศัย 0.02% คิดเป็นค่าภาษี 1,000 บาท จะชำระภาษีเพียง 100 บาท กรณีที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ประกอบการพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรม 0.3% คิดเป็นค่าภาษี 15,000 บาท จะชำระภาษีเพียง 1,500 บาท โดยยืนยันว่าเป็นการลดภาระภาษีให้กับคนทุกกลุ่ม เป็นธรรม เพราะเดือดร้อนจากโควิด-19 ทุกคน

นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายลำดับรองร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ) อีก 2 ฉบับ ที่ได้ประกาศในราชกิจจุเบกษาและมีผลใช้บังคับครบแล้ว คือ หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย และ หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ว่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างลักษณะใดเป็นการใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย และลักษณะใดใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม เพื่อให้ อปท.สามารถดำเนินการจัดเก็บภาษีตาม พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ส่งผลให้ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย ได้แก่ ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของใช้อยู่อาศัยเอง บ้านหลังที่ 2 ให้ญาติพี่น้องอยู่อาศัย ให้เช่าเพื่ออยู่อาศัยแบบรายเดือน (เช่น บ้านเช่า อพาร์ทเม้นท์ หอพัก คอนโด เป็นต้น) และโฮมสเตย์ ให้เสียภาษีในอัตราที่อยู่อาศัย 0.02% ไม่ใช่เสียภาษีเชิงพาณิชย์อัตรา 0.3% เพื่อลดความกังวลใจของประชาชน ที่มีที่อยู่อาศัย ปล่อยเช่าคอนโด แล้วกลัวว่าจะต้องเสียภาษีคอนโดล้านละ 3,000 บาทที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้

และจะครอบคลุมที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีการใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ให้หมายความรวมถึงการปลูกพืช การเลี้ยงปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำนาเกลือสมุทร การทำสวนป่า การเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม รวมทั้งมีการกำหนด ประเภทของพืช จำนวนที่จะปลูกในแต่ละไร่ขั้นต่ำ เพื่อให้เสียภาษีในอัตราเกษตรกรรม

ครม.ไฟเขียวหั่นภาษีดิน90%