posttoday

'อีอีซี' ปูทางอู่ตะเภา สนามบินกรุงเทพฯแห่งที่ 3 เชื่อมดอนเมือง-สุวรรณภูมิ

27 เมษายน 2563

ชงบอร์ดใหญ่อีอีซี เคาะยุทธศาสตร์เมืองการบินภาคตะวันออกวาง 3 เป้าหมาย สนามบินกรุงเทพฯแห่งที่3 -มหานครการบิน-ศูนย์อุตฯท่องเที่ยวและโลจิสติกว์ คาดลงนามสัญญาร่วมทุนกลุ่ม BBSภายในเดือนพ.ค.นี้

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหาร การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาพตะวันออก (กบอ.) ที่มี นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เป็นประธานว่าที่ประชุมได้พิจารณาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก โดยมีมติให้เร่งนำเสนอคณะกรรมการนโยบาย ฯ (กพอ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยเร็วที่สุด และคาดว่าจะมีการลงนามสัญญากับเอกชนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมลงทุนได้ภายในเดือนพ.ค.นี้

ทั้งนี้โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ใช้เงินลงทุน 2.9 แสนล้านบาท โดยรัฐจะมีรายได้จากภาษีอากรเพิ่มมากกว่า 60,000 ล้านบาท (ไม่นับรวมรายได้ภาษีทางอ้อมกับธุรกิจเชื่อมโยงนอกเมืองการบินภาคตะวันออก) และทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่ม 15,640 ตำแหน่งต่อปี ในระยะ 5 ปีแรก

อย่างไรก็ตามได้วางยุทธศาสตร์สำคัญใน 3 ภารกิจ คือ 1.เป็น “สนามบินกรุงเทพฯ แห่งที่ 3”เชื่อมสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิ ด้วยรถไฟความเร็วสูง 2.เป็นศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจเป้าหมายโดยเฉพาะการเป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation”ของ อีอีซี

'อีอีซี' ปูทางอู่ตะเภา สนามบินกรุงเทพฯแห่งที่ 3 เชื่อมดอนเมือง-สุวรรณภูมิ

3.เป็นศูนย์กลางของ“มหานครการบินภาคตะวันออก”ที่จะครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่เมือง ประมาณ 30 กิโลเมตร(ก.ม.) โดยรอบสนามบิน (เมืองพัทยา ถึง ตัวเมืองระยอง) ซึ่งเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของการพัฒนา Eastern Seaboardที่ต้องการให้เกิดเป็นเมืองท่าและเมืองธุรกิจสำคัญของประเทศไทย โดยเข้าเชื่อมโยงเป็นส่วนขยายของกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปทางตะวันออก ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้สะดวกทั้ง ทางน้ำ (เรือและท่าเรือ) ทางบก (ทางด่วน รถไฟ และ รถไฟความเร็วสูง) และทางอากาศ (สนามบิน)

นอกจากนี้วางเป้าหมาย 6 กิจกรรมสำคัญ คือ 1.อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 (Passenger Terminal Building 3)2.ศูนย์ธุรกิจการค้าและการขนส่งภาคพื้นดิน (Commercial Gateway and Ground Transportation Centre) 3.ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul)

4.เขตประกอบการค้าเสรี และเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง (Cargo Village or Free Trade Zone)5.ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ (Cargo Complex) 6.ศูนย์ฝึกอบรมการบิน (Aviation Training Centre)

ด้านพลเรือตรี เกริกไชย วจนาภรณ์ เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก กล่าวว่า สำหรับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) (กลุ่มบีบีเอส) ประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (Lead Firm) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เสนอผลประโยชน์สูงสุดในโครงการนี้ และคณะกรรมการคัดเลือกฯได้เห็นชอบผลการเจรจากับกลุ่ม BBSโดยจะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และคณะรัฐมนตรี (ครม.)ต่อไป