posttoday

ส่งออกดีดกลับบวก 4.17% สูงสุดรอบ 8 เดือน ชี้สินค้าอุตสาหกรรม-อาหารดาวรุ่ง หลังพ้นโควิด

21 เมษายน 2563

'พาณิชย์' ยิ้มออก ทิศทางส่งออกสัญญาณดี ภาพรวมไตรมาสแรกโต 0.91% ปัจจัยวิกฤตโควิดส่งผลดีต่อส่งออกสินค้าอาหาร-เกษตร และอิเล็คทรกนิกส์ คาดหลังมีการผ่อนคลายเปิดประเทศทั่วโลกจะทำให้ส่งออกไทยมีโอกาสขยายตัวได้ต่อเนื่อง

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร   ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า  เปิดเผยถึง ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย ประจำเดือนมีนาคม 2563 การส่งออก มีมูลค่า 22,405 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.17%  ขยายตัวสูงสุดในรอบ 8 เดือน จากการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเป็นหลัก สะท้อนถึงการฟื้นตัวในภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ของอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อย่างเครื่องคอมพิวเตอร์ มีสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจน จากการกลับมาขยายตัวในระดับสูง 17.59%  และขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากผลของสงครามการค้าเบาบางลง

ด้านปัจจัยราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำ ยังเป็นตัวกดดันมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ซึ่งมีสัดส่วนถึง 8.12% ของการส่งออกในเดือนมี.ค. เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธ การส่งออกของไทยในเดือนมี.ค.ขยายตัว 2.12%

ขณะที่ภาพรวมไตรมาสแรกปี 2563 การส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 0.91 เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธ การส่งออกไทยไตรมาสแรกขยายตัว 1.06%

สำหรับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้แนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป และอาหารมีความเด่นชัดมากขึ้น  ซึ่งประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารของโลก สามารถใช้โอกาสดังกล่าวในการขยายตลาดสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคมากขึ้น

ขณะที่ผลของสงครามการค้าเริ่มมีสัญญาณที่ดีตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยอุตสาหกรรมไทยมีศักยภาพในการฟื้นตัวอย่างชัดเจน นอกจากนี้ การกลับมาเปิดประเทศของจีนได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้ง สหรัฐ และบางประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป เตรียมที่จะผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จะส่งผลให้บรรยากาศการค้าโดยภาพรวมกลับมาฟื้นตัว และทำให้การส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปีมีทิศทางที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1. ความต้องการสินค้าอาหารในประเทศที่มีการแพร่ระบาดเพิ่มสูงขึ้น เป็นโอกาสการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทย 2. การฟื้นตัวของประเทศที่ผ่านพ้นการระบาด โดยเฉพาะจีน ที่คาดว่าภาคการผลิตจะกลับมาดำเนินการเต็มรูปแบบภายในสิ้นเดือนเม.ย.จะทำให้การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมไทยที่เป็นซัพพลายเชนของจีนมีความต่อเนื่องมากขึ้น และ 3.ค่าเงินบาทไทยที่ยังอ่อนค่าทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ จะช่วยสนับสนุนการส่งออกสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่อราคาสูง