posttoday

เศรษฐกิจชะลอ ฉุดไตรมาสแรกยอดขอลงทุนบีโอไอวูบ ปีนี้ยังไม่กล้าเคาะเป้าหมาย

13 เมษายน 2563

‘บีโอไอ’ ชี้ ผลกระทบเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงไทย ส่งผลให้การยื่นขอลงทุนไตรมาสแรกปี’63 ลดลงถึง 44% มีมูลค่า 71,380 ล้านบาท ส่วนเป้าหมายลงทุนปีนี้ ยังไม่สรุปตัวเลข ขอติดตามสถานการณ์ให้ชัดก่อน

น.ส.ดวงใจ  อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บอร์ดบีโอไอ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า บีโอไอได้รายงานภาวะการส่งเสริมการลงทุนช่วง 3 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-มี.ค.) โดยมียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งสิ้น 378 โครงการ เพิ่มขึ้น 3 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 368 โครงการ  ผลจากเศรษฐกิจโลกและไทย ที่ชะลอตัวต่อเนื่อง

ขณะที่มีมูลค่าการลงทุนรวม 71,380 ล้านบาท ลดลง 44%  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่า 128,460 ล้านบาท เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดกลางและขนาดเล็ก  โดยมูลค่าเงินลงทุนสูงสุดอยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่า 10,620 ล้านบาท ตามด้วยอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร มูลค่า 5,690 ล้านบาท และยานยนต์และชิ้นส่วน มูลค่า 2,400 ล้านบาท

สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่าการขอรับส่งเสริมรวม 27,425 ล้านบาท โดยญี่ปุ่นมีการลงทุนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 โดยมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 7,402 ล้านบาท อันดับ 2 คือ จีน มีมูลค่าเงินลงทุน 6,510 ล้านบาท และอันดับ 3 ฮ่องกง มีมูลค่าเงินลงทุน 3,458 ล้านบาท

“ส่วนตัวเลขเป้าหมายการลงทุนในปีนี้ ยอมรับว่ายังลำบากที่จะกำหนดเป้าหมาย เพราะสถานการณ์ยังไม่แน่นอนดังนั้นบีโอไอขอติดตามสถานการณ์ก่อนจึงจะกำหนดเป้าหมายได้ชัดเจนอีกครั้ง”น.ส.ดวงใจ กล่าว

ทั้งนี้ ยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่ารวม 47,580 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 67 ของมูลค่าการขอรับส่งเสริมทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าอีอีซียังเป็นพื้นที่เป้าหมายของนักลงทุนส่วนใหญ่

นอกจากนี้ล่าสุดบอร์ดบีโอไอได้อนุมัติโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่าการลงทุนรวม 5,480 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงสายการผลิตรถยนต์เดิมที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี สำหรับผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยมีกำลังการผลิตรวม 39,000 คันต่อปี แบ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicles - BEV) ประมาณ 9,500 คันต่อปี และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicles  - HEV) ประมาณ 29,500 คันต่อปี โดยจะเริ่มผลิตประมาณปี 2566 และจะมีการส่งออกไปตลาดอาเซียนด้วย