posttoday

พิษโควิดกดเงินเฟ้อต่ำสุดรอบ 51เดือน จี้ผู้ผลิตสินค้าคืนกำไรสังคมหลังต้นทุนน้ำมันลด

07 เมษายน 2563

เงินเฟ้อเดือนมี.ค.ติดลบ 0.54% ผลจากโควิด-19 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก ขณะที่ราคาน้ำมันลดลงต่ำสุดในรอบ 48 เดือน กระทุ้งผู้ผลิตสินค้าหั่นราคาช่วยเหลือประชาชนจากต้นทุนขนส่งที่ต่ำลง

น.ส.พิมพ์ชนก   วอนขอพร  ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า   (สนค.) กระทรวงพาณิชย์   เปิดเผยถึง  สถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการ เดือน มี.ค. ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ลดลง 0.54%  (YoY) หดตัวครั้งแรกในรอบ 33 เดือน และเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 51 เดือน โดยมีสาเหตุสำคัญจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และการลดลงของกลุ่มพลังงาน ที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 48 เดือน (ลดลง 11.14% ) ตามภาวะสงครามราคาน้ำมันโลก   ระหว่างซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศลดลงถึง 11 ครั้งในเดือนนี้

ทั้งนี้ปัจัยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และแนวโน้มการลดลงของราคาพลังงานโลก เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสแรกของปี โดยส่งผลทั้งด้านอุปสงค์และด้านอุปทาน และยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะคลี่คลายได้เมื่อใด

ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้ง แม้จะส่งผลต่อผลผลิตสินค้าเกษตรบางชนิด แต่โดยรวมน่าจะมีผลน้อยกว่าปัจจัยด้านอุปสงค์ ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงดำเนินต่อไปภายใต้ความไม่แน่นอนและส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ลดทอนความต้องการและลดกิจกรรมทางธุรกิจแล้ว คาดว่าเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 2 จะมีโอกาสลดลงอย่างต่อเนื่องไปจนถึงครึ่งหลังของปี

ทางกระทรวงพาณิชย์ จึงปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ ทั้งปี 2563 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ จากเดิม ระหว่างร้อยละ 0.4 ถึง 1.2 (ค่ากลางอยู่ที่ 0.8) เป็น ติดลบ 0.2-1  % (ค่ากลางอยู่ที่ ติดลบ0.6) อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ อาจมีการทบทวนกรอบการคาดการณ์เพื่อความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์อีกครั้งในระยะต่อไป

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า  ในช่วงนี้ระดับราคาน้ำมันปรับลดลงมาก ดังนั้นผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคควรเข้ามาช่วยเหลือได้ อาจเป็นการเพิ่มปริมาณหรือทำอะไรให้เงินเท่าเดิมแต่ประชาชนสามารถซื้อสินค้าได้มากขึ้น จากที่ผู้ผลิตได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันลดลง  

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนมี.ค.ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 37.5 จากระดับ 43.1 ในเดือนก่อนหน้า ต่ำสุดในรอบ 15 เดือน เป็นการลดลงของทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันที่ลดลงจากระดับ 38.2 มาอยู่ที่ระดับ 32.7 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตที่ลดลงจากระดับ 46.4 มาอยู่ที่ระดับ 40.7 

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ในเดือนนี้ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก ซึ่งลดลงในทุกภูมิภาคและทุกอาชีพ โดยมีสาเหตุสำคัญจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีระดับความรุนแรงสูงกว่าเดือนก่อน ส่งผลให้ภาครัฐต้องออกมาตรการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมหลายด้านเพื่อควบคุมการระบาดของโรค ซึ่งมาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยากับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสออกมาเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบในบางส่วนได้