posttoday

บราเดอร์ มองตลาดไอทีไทยยังมีโอกาส ขยายกลุ่มลูกค้าองค์กร

29 กุมภาพันธ์ 2563

กางแผนปี63 จับมือแบรนด์ดังขยายการรับรู้ลูกค้ากลุ่มใหม่ ชี้ศักยภาพภาคเอกชนของไทยยังแข็งแกร่ง พร้อมปรับตัวรับมือได้ในทุกสภาวะ วางเป้าโต 5% แม้ภาพรวมตลาดยังทรงตัว

นายธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า แม้ภาพรวมธุรกิจเครื่องพิมพ์ในไทยยังทรงตัว แต่บราเดอร์สามารถสร้างส่วนแบ่งทางการตลาดให้เติบโตเพิ่มขึ้น หลังปรับรูปแบบกลยุทธ์สะท้อน DNA ของแบรนด์ที่มีความหลากหลายด้านผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบโจทย์ และ สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการทรานส์ฟอร์ม 3 ส่วนหลัก ได้แก่ Business transform, Operational Transform และ Talent Transform ด้วยกลยุทธ์ ‘3C’ มุ่งโฟกัส Customer (ลูกค้า) Channel Partner (ช่องทางการจัดจำหน่าย) ไปจนถึง Company (ตัวองค์กร) ทำให้ในปีงบประมาณ 2562 บริษัทฯ คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตแบบสวนกระแสถึง 5 % โดยในปีงบประมาณ 2563 บราเดอร์ยังคงเดินตามกลยุทธ์ที่ได้วางไว้ในช่วง 3 ปี ครอบคลุมระหว่างปีงบประมาณ 2562 – 2564 ด้วยการเพิ่มความเข้มข้นให้แก่กลยุทธ์ ‘3C’ เริ่มจาก Customer (ลูกค้า) เน้นนำเสนอผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ๆ ที่เติมเต็มความต้องการให้หลากหลายยิ่งขึ้น Channel Partner (ช่องทางการจัดจำหน่าย) ที่ปีนี้จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนด้วยการสร้างการทำงานภายใต้คอนเซปต์ Brother: the Power of TEAM

ทั้งนี้ เป้าหมายเพื่อสร้างทีมที่ปรึกษาให้แก่กลุ่มตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ สร้างโอกาสทางการขายใหม่ๆ ด้วยการส่งทีมผลิตภัณฑ์ ทีมขาย ทีมสื่อสารการตลาด ทีมเทคนิค และทีมบริการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์บราเดอร์ กระตุ้นการตัดสินใจซื้อของลูกค้า Company (ตัวองค์กร) บราเดอร์ จะนำระบบ “Agile” มาใช้ในการทำงานในแต่ละโครงการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานเกิดความยืดหยุ่นและเกิดความรวดเร็วในการสร้างผลงาน โดยจะคัดเลือกบุคลากรในแต่ละแผนก เข้ามาระดมความคิด เพื่อกำหนดแนวทางในการเพิ่มศักยภาพ ความคล่องตัว และบริหารการใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งระบบดังกล่าวจะใช้ต่อเนื่องไปถึงปี 2564 ปัจจุบัน กลุ่มลูกค้าของบราเดอร์กว่า 60% เป็นกลุ่มลูกค้า SME และ กลุ่มคอร์ปอเรท กลุ่มเครื่องพิมพ์เลเซอร์ยังเป็นสินค้าแฟลกชิป (แหล่งข้อมูลจาก GFK) โดยบราเดอร์ครองส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 ใน 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กลุ่มโมโนเลเซอร์พรินเตอร์ ปัจจุบันครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 38%, กลุ่มโมโนเลเซอร์มัลติฟังก์ชั่นพรินเตอร์ ครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 56% และกลุ่มคัลเลอร์เลเซอร์มัลติฟังก์ชั่นพรินเตอร์ ที่ครองส่วนแบ่งการตลาด 33% ด้านกลุ่มอิงค์เจทพรินเตอร์ บราเดอร์ยังเกาะกลุ่ม 1 ใน 3 ผู้นำตลาด ด้วยส่วนแบ่ง 17%

"ผ่านมาบราเดอร์ใช้กลยุทธ์ทั้ง “Push & Pull” ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ และในปีนี้จะเพิ่มสีสรรในการทำตลาดรูปแบบใหม่เพื่อให้เกิดความแตกต่างจากคู่แข่ง และ ที่สำคัญในปีนี้บราเดอร์จะใช้งานบริการหลังการขายที่ได้รับการยอมรับอย่างมากถึงคุณภาพมาเป็นหนึ่งในเครื่องมือเพื่อเพิ่มรายได้ให้บริษัทฯ ด้วย” นายธีรวุธ กล่าว ด้านนายวรศักดิ์ ประดิษฐ์กุล ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายบริการลูกค้า บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงกลยุทธ์การนำบริการหลังการขาย มาเป็นอีกหนึ่งเฟืองจักรสำคัญเพื่อเพิ่มประโยชน์สูงสุดให้กับลุกค้าว่า จากการยอมรับของกลุ่มเป้าหมายต่อคุณภาพงานบริการหลังการขายของ บราเดอร์ ที่พร้อมทั้งด้านบุคลากรและระบบการบริการอันทันสมัย ทำให้บราเดอร์เห็นโอกาสและพัฒนาสู่บริการเสริมเพื่อเพิ่มความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า

โดยในปีงบประมาณ 2563 บราเดอร์ เปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถซื้อการขยายระยะเวลารับประกัน และเพิ่มบริการพิเศษพร้อมตัวเครื่องได้ตามความต้องการ นอกจากนี้ ยังเดินหน้าพัฒนาระบบ chatbot ให้บริการ 24 ชั่วโมงเต็มรูปแบบ คาดว่าจะนำมาใช้ในช่วงต้นปี 2564 พร้อมกันนี้ ยังได้พัฒนาแอพลิเคชั่น Brother Support Center ที่รวบรวมข้อมูลสินค้า คู่มือการใช้งาน การตรวจสอบสถานะเครื่อง และข้อมูลศูนย์บริการบราเดอร์ทั่วประเทศ

ด้านจำนวนศูนย์บริการในปัจจุบันมีครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ ล่าสุดได้เปิดศูนย์บริการในประเทศลาวที่เวียงจันทน์ และจะเดินหน้าเปิดศูนย์บริการอีก 2 แห่ง ที่หลวงพระบางและสะหวันนะเขต และเพื่อสร้างมาตรฐานการอบรมแก่พนักงานบราเดอร์ได้นำระบบ e-learning เข้ามาใช้ฝึกอบรมผ่าน visual classroom เพื่อความชัดเจนในการสื่อสาร สามารถใช้ผ่าน Smart devicesเพื่อเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา

นายพรภัค อุไพศิลป์สถาพร ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แผนการปรับกลยุทธ์ด้านการพัฒนาองค์กรด้วยการสร้าง ‘บุคลากรคุณภาพ’ รับการเปลี่ยนแปลงของกระแสเศรษฐกิจโลกที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วว่า บริษัทฯ สร้างโปรเจคในการพัฒนาบุคคลากรขององค์กร ตามกลยุทธ์ Talent transform ด้วยการพัฒนากลุ่มบุคลากรที่มีทัศนคติที่ดีและพร้อมจะเปลี่ยนเพื่อสิ่งที่ดีกว่าและยินดีร่วมเป็นหนึ่งในการผลักดันองค์กรสู่การเติบโตที่ยั่งยืน และพร้อมจะนำความรู้ ประสบการณ์ที่ได้มาแบ่งปันสู่เพื่อนร่วมงาน สร้างบุคลากรคุณภาพใบแบบ multi task skill สร้าง mind set ที่ดี คิดนอกกรอบ สร้างสรรค์ไอเดียใหม่ เพิ่มความคล่องตัว เพื่อเตรียมพร้อมเดินหน้าสู่การเติบโตอย่างเข้าใจไปพร้อมกัน