posttoday

ก้อนน้ำมันดินหาดหัวไทร ไม่ได้รั่วจากแหล่งปิโตรเลียมอ่าวไทย

24 กุมภาพันธ์ 2563

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ รอผลวิเคราะห์ก้อนน้ำมันดินโผล่หาดหัวไทรสืบหาแหล่งที่มา พร้อมไล่ตรวจสัมปทานปิโตรเลียมรอบอ่าวไทย ไม่พบน้ำมันดิบรั่วไหล

นายศุภลักษณ์ พาฬอนุรักษ์ โฆษกกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีก้อนน้ำมันดิน (Tarball) เกิดขึ้นบริเวณชายหาดหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมานั้น ทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัทผู้รับสัมปทานทุกรายที่มีการดำเนินงาน ในอ่าวไทย พบว่าไม่มีการรั่วไหลของน้ำมันดิบจากแท่นผลิตแต่อย่างใด

ทางพลังงานจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างก้อนน้ำมันดิน เพื่อส่งไปวิเคราะห์ยังห้องปฏิบัติการ เพื่อหาที่มาที่แน่ชัดของก้อนน้ำมันดินดังกล่าว ตามกระบวนการที่ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) เรื่อง การพัฒนาฐานข้อมูลลายนิ้วมือน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย ภายใต้หน่วยงานรับผิดชอบ 10 หน่วยงาน ได้แก่ 1. กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ 2. กรมควบคุมมลพิษ 3. กรมเจ้าท่า 4. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 5. กรมศุลกากร 6. ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ในส่วนกองทัพเรือ

7. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี 8. บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) 9. สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) 10. สมาคมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน

ทั้งนี้เป็นการลงนามเมื่อปี 2561 เพื่อจัดทำฐานข้อมูลลายนิ้วมือน้ำมันดิบ และเพื่อบ่งชี้แหล่งที่มาของก้อนน้ำมันดิน และจากการทำ เอ็มโอยู หากมีก้อนน้ำมันดินเกิดขึ้น หน่วยงานท้องถิ่นจะเป็นผู้เก็บตัวอย่างและส่งให้กรมควบคุมมลพิษ เพื่อส่งตัวอย่างต่อให้วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เป็นผู้วิเคราะห์ต่อไป

สำหรับปรากฏการณ์ก้อนน้ำมันดินนั้น จะเกิดขึ้นแทบทุกปีในช่วงหน้ามรสุม (พ.ย.-ก.พ.) ซึ่งจากการเก็บตัวอย่างมาตรวจวิเคราะห์เปรียบเทียบกับตัวอย่างน้ำมันดิบ จากแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยที่ผ่านมา ยังไม่เคยพบว่า ตัวอย่างก้อนน้ำมันดินเป็นชนิดเดียวกันกับตัวอย่างน้ำมันดิบจากแหล่งผลิตในอ่าวไทย

นายศุภลักษณ์ กล่าวว่า ในส่วนการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในกิจการการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มีนโยบายและมาตรการในการป้องกันปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในทุกพื้นที่อย่างเข้มงวดตลอดมา โดยกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมจะต้องดำเนินการในด้านการป้องกันและบำบัดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากลและตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 เพื่อให้การดำเนินกิจการปิโตรเลียมสามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนได้อย่างยั่งยืน