posttoday

"พาณิชย์" ทำเข้มสั่งเช็ค! รถหลวงในสังกัดทุกคันต้องไร้มลพิษ

19 กุมภาพันธ์ 2563

ปลัดพาณิชย์ สั่งตรวจสอบรถหลวงในสังกัดทุกคัน ต้องไร้มลพิษ ร่วมแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ชี้ต้นเหตุสำคัญ ควันดำไอเสียรถยนต์เกินค่ามาตรฐาน ร่วมวงด้วย

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการด่วน!! ให้หน่วยงานภายในกระทรวงพาณิชย์ เร่งสำรวจสภาพรถราชการทุกประเภท ประกอบด้วย รถประจำตำแหน่ง รถส่วนกลาง รถรับรอง และรถรับรองประจำจังหวัด มิให้มีมลพิษทางอากาศและระดับเสียงจากท่อไอเสียที่เกินจากระดับมาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษกำหนด

เนื่องจากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 กำลังสร้างปัญหาด้านสุขภาพอนามัยและการดำเนินชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก สาเหตุสำคัญ คือ การเผาไหม้ที่สันดาปไม่สมบูรณ์และควันดำจากท่อไอเสียรถยนต์ที่เกินค่ามาตรฐาน ประกอบกับเพื่อรณรงค์ให้หน่วยงานราชการและบุคลากรภาครัฐตระหนักถึงความสำคัญของการลดมลพิษทางอากาศ ซึ่งไม่เพียงแต่จะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของประชาชนเท่านั้น แต่ยังช่วยประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงและงบประมาณของประเทศอีกด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้ประสานด่วนไปยังกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเข้าตรวจวัดมลพิษทางอากาศและระดับเสียงจากรถราชการ โดยจะเริ่มทยอยตรวจรถยนต์ของหน่วยงานราชการภายใต้สังกัดกระทรวงพาณิชย์ให้ครบทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ในส่วนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ดำเนินการตรวจสภาพรถราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผลการตรวจสอบรถราชการของกรมฯ ทั้งประเภทเครื่องยนต์ดีเซลและเบนซินทุกคันอยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งาน

อย่างไรก็ดี ค่ามาตรฐานตามที่กรมควบคุมมลพิษกำหนดของมลพิษทางอากาศที่ถูกปล่อยออกมาจากรถเครื่องยนต์ดีเซลค่าควันดำต้องไม่เกินร้อยละ 50 กรณีจอดรถอยู่กับที่และไม่มีสัมภาระ สำหรับเครื่องยนต์เบนซินต้องมีความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ไม่เกินร้อยละ 0.5 และก๊าซไฮโดรคาร์บอน (HC) ไม่เกิน 100 ppm (รถยนต์ที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2550) และมาตรฐานมลพิษทางเสียงของเครื่องยนต์ทั้ง 2 ประเภทต้องไม่เกิน 100 เดซิเบล (dBA) (รถยนต์ที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2557)

นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยังได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานภายในกระทรวงพาณิชย์กำหนดมาตรการประหยัดพลังงานเพื่อช่วยลดมลพิษทางอากาศ/ประหยัดงบประมาณของประเทศ โดยกำชับให้ทุกหน่วยงานถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ซึ่งมาตรการประหยัดพลังงานนี้ กรมฯ ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อรับผิดชอบการลดการใช้พลังงานขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อกำกับดูแลให้เห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ประกอบด้วย 1. มาตรการลดการใช้ไฟฟ้า

และ 2. มาตรการลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมาตรการฯ ดังกล่าว หากประสบผลสำเร็จ จะช่วยให้กรมฯ สามารถประหยัดงบประมาณได้ประมาณร้อยละ 5 ของงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล