posttoday

ไทยเดินหน้าร่วมวง CPTPP หวังดันจีดีพีขยับ ย้ำไม่กระทบปมสิทธิบัตรยา

13 กุมภาพันธ์ 2563

'พาณิชย์' เตรียมเสนอ ครม.ไฟเขียวไทยเข้าร่วมเจรจากรอบ CPTPP เดือนเม.ย. นี้ 'สมคิด' ยันไม่เกิดผลกระทบสิทธิบัตรยา สั่งตั้งทีมรอเจรจาสงวนข้ออ่อนไหว

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2563 ว่ากระทรวงพาณิชย์ได้รายงานผลการศึกษาถึงข้อดีข้อเสียของการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งเป็นกรอบความตกลงการค้าที่ประเทศไทยแสดงความสนใจจะเข้าร่วมเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วงที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการจัดทำทั้งข้อมูลการศึกษา การรับฟังประชาชนทุกฝ่าย ได้ข้อมูลทั้งข้อดีและผลกระทบจากการเข้าร่วม

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะไม่มีผลกระทบกรณีสิทธิบัตรยาแน่นอน โดยได้มอบกระทรวงพาณิชย์ไปทำข้อสรุปว่า ไทยควรเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP หรือไม่ เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) ต่อไป โดยคาดว่าจะเสนอได้ในเดือนเม.ย. นี้ เพื่อแสดงความจำนงเข้าร่วมสมาชิก CPTPP ก่อนช่วงที่ประเทศสมาชิกทั้ง 7 ประเทศในปัจจุบัน ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เม็กซิโก แคนาดา สิงคโปร์ เวียดนาม จะมีการประชุมในเดือน ส.ค. นี้

“ประเทศสมาชิก CPTPP จะประชุมในเดือนส.ค.นี้ ซึ่งทางผู้นำกลุ่มอยากให้ไทยตอบกลับให้ชัดเจนว่า จะเข้าร่วมหรือไม่ก่อนหน้านั้น จึงสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ไปทำข้อ สรุปผลดีและผลเสียทั้งหมด และเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในช่วงเดือนเม.ย.นี้ และหากผ่านความเห็นชอบจาก ครม.แล้วจะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อเจรจาต่อรองในเรื่องการค้า การลงทุนและอัตราภาษีต่างๆ ต่อไป โดย ขอยืนยันว่า หากการลงนามเข้าร่วม CPTPP มีผลกระทบต่อประชาชน ไทยจะต้องต่อรองอย่างแน่นอน เพราะทุกประเทศที่เข้าร่วมมีการต่อรองทุกประเทศอยู่แล้ว ไม่มีใครพร้อม 100% จึงต้องดูว่า เรื่องไหนเป็นเรื่องอ่อนไหวของเรา ก็จะตั้งทีมเพื่อมาเพื่อเจรจาจากทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องเช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม”นายสมคิดกล่าว

นายสมคิด กล่าวว่า ส่วนกรณีการเจรจาเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ) ไทยและสหภาพยุโรปก็เป็นประเด็นที่ต้องเร่งเดินหน้า เพราะล่าสุดทางเวียดนามเองได้มีความคืบหน้าไปมากแล้ว โดยเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมาสภาสหภาพยุโรปได้รับรองการจัดทำ FTA กับเวียดนามเรียบร้อยแล้ว โดยประเทศไทยยังล่าช้าเพราะก่อนหน้านี้ ประเทศไทยยังมีการเลือกตั้ง ยังไม่เป็นประชาธิปไตย การเจรจากับระหว่างไทยกับยุโรปจึงหยุดไป แต่เมื่อประเทศมีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลอย่างเป็นทางการแล้ว จึงได้กำชับให้อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เร่งพิจารณาความร่วมมือการเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-อียู

ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบถึงผลการศึกษาผลกระทบจาการเข้าร่วมกรอบความร่วมมือ CPTPP ซึ่งโดยภาพรวมถ้าประเทศไทยไม่เข้าร่วมจะทำให้เสียโอกาสทั้งด้านการค้าและการได้รับเงินลงทุนโดยตรง(FDI)จากต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ 2 ประเทศในอาเซียนที่เข้าร่วมแล้วคือสิงคโปร์และเวียดนาม ได้รับประโยชน์จากความร่วมมืออย่างชัดเจน โดยเฉพาะการค้าที่ขยายตัวเฉลี่ย 6-9% ขณะที่ประเทศไทยขยายตัวในระดับต่ำ

ทั้งนี้ จากการศึกษาที่ใช้ข้อมูลปี 2562 เปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า พบว่าหากประเทศไทยเข้าร่วมกรอบความตกลง CPTPP จะทำให้จีดีพี เพิ่มขึ้น 13,300 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.12% แต่หากไม่เข้าร่วมจีดีพีจะลดลด 26,600 ล้านบาท หรือลดลง 0.25% ขณะที่มูลค่าเงินลงทุนโดยตรงในปี 2562 ของไทยที่ยังไม่เข้าร่วมกรอบความร่วมมือนี้อยู่ที่ 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในขณะที่สิงคโปร์ และเวียดนามที่เข้าร่วมแล้วได้รับเงินลงทุนโดยตรง 63,393 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 16,940 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ และเมื่อเทียบการเติบโตของมูลค่าการค้าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี พบว่าของไทยก็เติบโตที่ 3.23% ต่ำกว่าสิงคโปร์ และเวียดนามที่ขยายตัว 9.92% และ 7.85% ตามลำดับ

อย่างไรก็ดีหาก ครม.อนุมัติให้ไทย เสนอตัวเข้าร่วมกรอบความตกลง CPTPP กระทรวงพาณิชย์จะแสดงความจำนงไปยังประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นผู้รวบรวมข้อมูลของประเทศที่สนใจจะเข้าร่วมกรอบความตกลง เพื่อให้ประเทศสมาชิกของกลุ่มที่ปัจจุบันประกอบด้วย 7 ประเทศได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เม็กซิโก แคนาดา สิงคโปร์ เวียดนาม ประชุมในเดือน ส.ค. นี้ และหากทั้ง 7 ประเทศตกลงยอมรับประเทศไทย หลังจากนั้นก็จะเป็นขั้นตอนการเจรจา