posttoday

ล้ำ!! ทดลองใช้ 5 G บังคับรถยก ผ่านทางไกล ในภาคอุตสาหกรรม

24 มกราคม 2563

เอไอเอส -เอสซีจี จับมือ ม.สงขลานครินทร์ หนุนโมเดลต้นแบบ 5G ใช้งานในจริงในภาคอุตสาหกรรม นำร่องทดสอบการควบคุมรถยกผ่านทางไกล เพิ่มความปลอดภัยในงานที่มีความเสี่ยง ขับเคลื่อน Thailand 4.0

เอไอเอส -เอสซีจี จับมือ ม.สงขลานครินทร์ หนุนโมเดลต้นแบบ 5G ใช้งานในจริงในภาคอุตสาหกรรม นำร่องทดสอบการควบคุมรถยกผ่านทางไกล เพิ่มความปลอดภัยในงานที่มีความเสี่ยง ขับเคลื่อน Thailand 4.0

นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส เปิดเผยว่า เอไอเอส เอสซีจีและมหาวิทยาลัยสงลานครินทร์ ได้ร่วมกันพัฒนารถยกต้นแบบ ให้สามารถควบคุมผ่านระยะไกลบนเครือข่าย 5G จากเอสซีจี สำนักงานใหญ่บางซื่อ กรุงเทพฯ ไปยังโรงงานของเอสซีจี จ. สระบุรี โดยผู้ควบคุมรถ ไม่ต้องอยู่ที่เดียวกับรถ แต่สามารถควบคุมรถให้เคลื่อนย้ายสิ่งของจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดที่ต้องการได้แบบเรียลไทม์และแม่นยำ ช่วยเพิ่มผลิตผลให้ธุรกิจ สามารถต่อยอดไปสู่การฝึกอบรมพนักงานทางไกล และเพิ่มความปลอดภัยในงานที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งถือเป็นต้นแบบให้อุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทย สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงกับธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้

ทั้งนี้ 5G คือเทคโนโลยีที่จะเข้ามาพลิกโฉมสังคมไทย และยกระดับขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมไปอีกขั้น พร้อมขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็น Thailand 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจน อำนวยความสะดวกด้านการสื่อสารของผู้ใช้บริการโดยทั่วไป จากคุณสมบัติ 3 ส่วน คือ ความเร็วที่เพิ่มขึ้น, ขีดความสามารถการเชื่อมต่อ IoT และเครือข่ายที่ตอบสนองได้รวดเร็วและเสถียร เอไอเอส ในฐานะผู้นำอันดับ 1 ด้านนวัตกรรมเครือข่ายและเทคโนโลยี มีความมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคตอยู่เสมอ เพื่อเป็นแกนสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็น Thailand 4.0

ทางเอไอเอสเป็นผู้นำนวัตกรรม 5G รายแรกรายเดียวของไทยที่ทดลองทดสอบ 5G ครบแล้วทั่วไทย โดยเปิดพื้นที่ให้นักพัฒนา นักวิจัย นิสิตนักศึกษา และประชาชนได้ร่วมศึกษา ทดลอง ทดสอบการใช้งาน 5G ในหลากหลายมิติมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของเทคโนโลยี 5G ว่ามีความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยอย่างไร ตลอดจน เรามีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางความร่วมมือในการสร้าง Ecosystem ของการพัฒนานวัตกรรม เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้งานทั่วทุกภูมิภาคและทุกเจเนอเรชัน

สำหรับความร่วมมือระหว่างเอไอเอส, เอสซีจี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในครั้งนี้ จึงถือเป็นก้าวย่างสำคัญของการทดสอบ 5G ในภาคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งได้ร่วมคิดค้นและพัฒนาโซลูชั่นในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตด้วย 5G ทดลองทดสอบในสภาพแวดล้อมจริง บนคลื่นความถี่ 2.6 GHz ภายใต้การสนับสนุนของ กสทช. เป็นครั้งแรกที่เราจะได้เห็น Use Case จริง ที่สามารถนำไปต่อยอดใช้งานได้จริงในอนาคต ผ่านการสาธิตการบังคับรถยกของ Forklift ขับเคลื่อนระยะไกล จากกรุงเทพฯ - สระบุรี เป็นครั้งแรกของภาคอุตสาหกรรมของไทย

ด้าน นายอรรถพงศ์ สถิตมโนธรรม ผู้อำนวยการ โครงการระบบอัตโนมัติและอุตสาหกรรม 4.0 เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจี มุ่งปรับเปลี่ยนการดำเนินงานด้านต่างๆ ในทุกกลุ่มธุรกิจ ทั้งซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง แพคเกจจิ้ง และเคมิคอลส์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้องค์กรเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยจัดตั้งคณะทำงานด้าน Mechanization, Automation and Robotics (MARs) และ Industry 4.0 ขึ้น ตั้งแต่ปี 2559 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับกระบวนการผลิตให้เป็นโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) ด้วยการนำเทคโนโลยีด้าน MARs และ Industry 4.0 มาผสมผสานกัน โดยใช้เงินลงทุนกว่า 860 ล้านบาท ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 จนออกมาเป็นโซลูชันต่างๆ อาทิ การแจ้งเตือนเครื่องจักรก่อนการซ่อมบำรุง (Smart Maintenance) การใช้หุ่นยนต์ในห้องปฏิบัติการด้านการตรวจวัด (Smart Laboratory) การทำระบบจ่ายปูนให้ลูกค้าแบบอัตโนมัติ (Smart Dispatching) และการเชื่อมโยงข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้ทุกคนเห็นข้อมูลเดียวกันที่ถูกต้องและนำมาวิเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจ รวมทั้งตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น

สำหรับโครงการ “การพัฒนารถ Forklift ขับเคลื่อนระยะไกลด้วยเครือข่าย 5G” ดังกล่าว เริ่มดำเนินการที่โรงงานของเอสซีจี ใน จ.สระบุรี เป็นแห่งแรก เพราะมีการเคลื่อนย้ายทั้งวัตถุดิบและสินค้าโดยใช้รถ Forklift เพื่ออำนวยความสะดวกจำนวนมาก อีกทั้งรถ Forklift ยังเป็น material mobility ที่ควบคุมได้ง่ายที่สุด ก่อนจะต่อยอดไปทดลองกับเครื่องมืออื่นๆ ในอนาคต ซึ่งการนำเครือข่าย 5G ที่มีความรวดเร็วในการตอบสนองแบบเรียลไทม์ และมีความแม่นยำในการส่งผ่านข้อมูลที่จำเป็นสำหรับระบบอัตโนมัติขั้นสูงมาใช้นั้น จะช่วยตอบโจทย์ของเอสซีจี ทั้งการมีผลิตผลที่มากขึ้นเพราะพนักงานสามารถควบคุมรถจากที่ใดก็ได้ อีกทั้งยังสามารถฝึกอบรมการใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ ให้กับพนักงานที่อยู่ในพื้นที่อื่นๆ ได้โดยไม่ต้องเดินทางไปที่หน้างาน

ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล ผู้อำนวยการ โครงการ อินโนเวชั่น ฮับส์ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยสถาบันวิจัยและนวัตกรรมดิจิทัล ได้ทำงานวิจัยและพัฒนาอย่างใกล้ชิดกับ ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม เพื่อร่วมกันศึกษา ทดลอง ทดสอบ เทคโนโลยี 5G ในมิติต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความพร้อมมากที่สุด เพื่อส่งมอบต่อให้กับภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้งานได้จริง ส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม สำหรับงานวิจัยพัฒนานี้ ได้รับทุนสนับสนุนจาก Innovation hub กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อนำ platform ระบบสมองกลฝังตัวขั้นสูงสำหรับยานยนต์ ผสมกับ ระบบควบคุม latency ต่ำ ผ่านทางไกลบนเครือข่าย 5G AIS นำไปใช้จริงในภาคการผลิตของอุตสาหกรรมได้ในอนาคต”

-